'คลัง' ลุยแก้ภาษีที่ดิน หลังใช้ครบ 5 ปี เล็งปรับอัตรา ‘ปิดช่องโหว่’ กฎหมาย

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกบังคับใช้มาครบ 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีผลเมื่อปี 2562 โดยช่วงที่แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ลดอัตราการจัดเก็บลง และปี 2567 เริ่มจัดเก็บเต็มอัตราที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดภาระประชาชนและผู้ประกอบการ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นจะจัดทำร่างกฎหมายใหม่เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สศค.รับฟังความเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ในวันที่ 1 เม.ย.2567-15 พ.ค.2567 โดยเป็นการรับฟังความเห็นทั้งส่วนราชการ นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 571 ราย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังต้องการรับฟังความเห็นหลังจากบังคับใช้กฎหมายมครบ 5 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขกฎหมาย โดย สศค.สอบถามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอัตราการจัดเก็บและการผ่อนปรน ซึ่งนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เคยระบุว่าอาจปรับปรุงอัตราการจัดเก็บ

สำหรับอัตราการจัดเก็บปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 

1.เกษตรกรรม อัตราจัดเก็บ 0.01-0.1% บุคคลธรรมดายกเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท 

2.บ้านพักอาศัย อัตราจัดเก็บ 0.02-0.1% ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท 

3.ที่ดินอื่นและรกร้างว่างเปล่า 0.3-0.7% สำหรับที่ว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เพิ่มอัตรา 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3%

อัตราภาษีปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่

นอกจากนี้ สศค.สอบถามประเด็นอัตราการจัดเก็บแยกเป็น 3 ประเภท ตามการใช้ประโยชน์ที่ดินเหมาะสมแล้วหรือไม่ รวมถึงสอบถามถึงกรณีการจัดเก็บตามอัตราก้าวหน้าเพื่อให้ผู้มีมูลค่าที่ดินสูงมีภาระภาษีมากกว่าผู้มีมูลค่าที่ดินต่ำ

ส่วนที่ดินเกษตรกรรมได้สอบถามประเด็นความเหมาะสมการใช้ที่ดินที่ใช้ตามความหมาย “ประกอบการเกษตร” ในระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ.2560 เช่น การทำนา ทำไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

รวมถึงความเหมาสะมของอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ เช่น กล้วย 200 ต้นต่อไร่ , มะพร้าว 20 ต้นต่อไร่ , โค 1 ตัวต่อการใช้ที่ดิน 5 ไร่ หรือ 1 ตัวต่อการใช้พื้นที่คอกหรือโรงเรือน 7 ตารางเมตร

ข้อยกเว้นที่ดินเกษตร-ที่อยู่อาศัยหลังแรก

นอกจากนี้ ประเด็นการยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อในทะเบียนบ้านและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้สอบถามว่าการยกเว้นดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ หรือควรยกเว้นที่มูลค่าเท่าใด

รวมถึงการยกเว้นที่ครอบคลุมเอกสารสิทธิอื่น เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. 3 ก) หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01)

ส่วนกรณีมูลค่าฐานภาษีสำหรับกรณีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีการยกเว้นที่มูลค่าฐานภาษี 10 ล้านบาท มีความเหมาะสมหรือไม่

ขอความเห็นข้อยกเว้นภาษีที่ดินรกร้าง

รวมทั้งเห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันถ้าไม่ทำประโยชน์ติดต่อกันให้เพิ่มอัตราภาษีอีก 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3% เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของนำที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมาใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวอาจเป็นพื้นที่สีเขียวมีความหลากหลายทางชีวภาพและสำคัญต่อระบบนิเวศ เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าธรรมชาติ ป่าชายเลน ซึ่งเห็นด้วยหรือไม่หากจะกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า และพื้นที่สีเขียวที่หลากหลายทางชีวภาพและสำคัญต่อระบบนิเวศควรบรรเทาภาษีหรือไม่ เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าธรรมชาติ ป่าชายเลน

หาข้อสรุปอัตราภาษี “บ้านเช่า-หอพัก”

รวมถึงสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยถูกเก็บอัตรา 0.02-0.10% และกรณีถ้ากำหนดให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยแบบมีค่าตอบแทนต้องเสียภาษีสูงกว่าที่อยู่อาศัยหรือไม่ เช่น บ้านเช่า หอพัก

นอกจากนี้สอบถามความเห็นถึงการให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บในเขต อปท.ได้ โดยอาจสูงกว่าอัตราภาษีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างจากพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ อัตราภาษีจะต้องไม่เกินเพดานที่กำหนดใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เปิด 4 ปมปัญหาภาษีที่ดินของ อปท.

ทั้งนี้ สศค.ได้สรุปปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงที่ผ่านมารวม 4 ประเด็น ดังนี้

1.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ก.พ.ทุกปี ซึ่ง อปท.อาจมีข้อจำกัดของข้อมูล เช่น ข้อมูลรูปแปลงที่ดินหรือข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดินที่ อปท.ได้รับไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน

2.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณอัตราภาษีอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง

3.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ อปท.จัดเก็บภาษีจากผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีอาจไม่ให้ความร่วมมือ เช่น ไม่อนุญาตไม่ให้สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่นำส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้ อปท. เพื่อใช้ประเมินภาษี

4.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นตั้งพนักงานสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่พนักงานสำรวจมีภาระงานประจำทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอ และเจ้าหน้าที่อาจไม่มีความรู้การสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสำรวจล่าช้า

เตรียมผ่อนผันผู้ได้รับแจ้งภาษีล่าช้า

แหล่งข่าวเปิดเผย รัฐบาลเตรียมออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อผ่อนผันให้ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ทันตามกำหนดซึ่งการชำระภาษีไม่ทันนั้นไม่ใช่ความผิดของผู้เสียภาษี แต่มาจากการได้รับหนังสือให้ชำระภาษีที่ดินล่าช้า โดยที่ผ่านมามีผู้เสียภาษีหลายรายได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีเมื่อพ้นกำหนดชำระภาษีทำให้ชำระภาษีไม่ทันที่กำหนด

ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าเพื่อให้กฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท.จัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรม โดยไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนผู้เสียภาษีจึงผ่อนผันดังนี้

1.ขยายเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี เฉพาะกรณีผู้เสียภาษีได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีเมื่อพ้นกำหนดชำระภาษี ทำให้ผู้เสียภาษีชำระไม่ทันที่กำหนด จากเดิมภายในเดือน เม.ย.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดออกไปเป็นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษี

2.ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีตามข้อ 1 ในการผ่อนชำระ ดังนี้ 

งวดที่ 1 จากเดิมชำระภายในเดือน เม.ย.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นชำระภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษี

งวดที่ 2 จากเดิมชำระภายในเดือน พ.ค.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระงวดที่ 1

งวดที่ 3 จากเดิมชำระภายในเดือนมิถุนายน หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระงวดที่ 2

3.ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่ดิน ที่มีภาษีค้างชำระจากเดิมภายในเดือน พ.ค.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระภาษีขยายกำหนดเวลาของ อปท.ในการแจ้งรายการภาษีของผู้เสียภาษี 

ทั้งนี้ ให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา จากเดิมภายในเดือน มิ.ย.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดขยายเวลาในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีที่มีภาษีค้างชำระ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...