EA จัดทัพใหม่หวังกู้วิกฤติ มั่นใจคืนหนี้ “แบงก์-หุ้นกู้” ครบทั้งหมด

เมื่อวันศุกร์ 12 ก.ค.2567 “ตลาดทุนไทย” มีประเด็นที่ทำให้ “นักลงทุน” ต้องผวากันอีกครั้ง สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้น 99.99% (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส

โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหารของ EA ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กรณีร่วมกระทำการทุจริต และได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ต่อมาที่ประชุมบอร์ดได้รับทราบการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทกรรมการชุดย่อย และผู้บริหาร ทั้งนายสมโภชน์ และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล

ตั้ง “สมใจนึก-ชัชวาลย์ เจียรวนนท์”

นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ และ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้มีมติแต่งตั้งให้ตนเองดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมแต่งตั้งกรรมการบริษัทเพิ่มเติม ได้แก่ นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์, นายวสุ กลมเกลี้ยง และนายฉัตรพล ศรีประทุม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.67 เป็นต้นไป 

รวมถึงยังมีมติเห็นชอบเพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเพิ่มจำนวนกรรมการ และพิจารณาแต่งตั้ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นกรรมการใหม่ของบริษัท (ต้องผ่านการประชุม AGM ก่อน) ซึ่งจะส่งผลให้กรรมการของบริษัทมีทั้งหมดจำนวน 13 คน 

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ (Executive Committee) ดังนี้ นายวุฒิเลิศ เจียรนิลกุลชัย เป็นประธาน,นายสมใจนึก เองตระกูล กรรมการบริหาร,นายสมบูรณ์ อาหุนัย กรรมการบริหาร,นายจำรัส สว่างสมุทร กรรมการบริหาร,นายณาศิส ประเสริฐสกุล กรรมการบริหาร, นายวสุ กลมเกลี้ยง กรรมการบริหาร และนายฉัตรพล ศรีประทุม กรรมการบริหาร

โดยนายวสุ กลมเกลี้ยง เป็นผู้เชี่ยวขาญทางด้านสายงานการเงินการลงทุน และเป็นอดีตผู้บริหารธนาคารพาณิชย์จึงให้รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน หรือ CFO แทนนายอมร ทรัพย์ทวีกุล 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับปัจจุบันบริษัทได้รับผลกระทบจากกระแสข่าวเชิงลบต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมา แต่มิได้ทำให้พื้นฐานกิจการที่แข็งแกร่งเปลี่ยนแปลงไป มีทีมงานที่มีความสามารถที่จะช่วยกันขยายธุรกิจต่อได้ และหากเกิดปัญหาใดเพิ่มเติม บริษัทก็มีแผนสำรองระยะฉุกเฉินรองรับไว้แล้ว แต่บริษัทก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจในวงกว้างให้มากขึ้น และเชื่อหลังจากนี้ความเชื่อมั่นต่อบริษัทจะกลับมาเป็นปกติได้

กรณี ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร สมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของทั้ง 2 คนที่ต้องชี้แจงตามกระบวนการกฎหมายต่อไป โดยคณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำกล่าวโทษ และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัททราบโดยเร็ว

นอกจากนี้บริษัทจะมีการเพิ่มเติมมืออาชีพด้านบริหารธุรกิจเข้ามาเสริมความแข็งแรง โดยเฉพาะตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่จะเข้ามาแทนตนเองที่รักษาการอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม คาดหวังจะได้ชื่อภายใน เดือน ก.ค. 2567

“ถึงแม้ว่าคุณสมโภชน์และคุณอมรจะลาออกไปก็ไม่เป็นปัญหา ผมช่วยวางนโยบาย EA อยู่แล้ว และตอนนี้จะลงมาดูเรื่องบริหารจนกว่าจะหาซีอีโอใหม่ที่เหมาะสมได้ แผนการขยายธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ บริษัททำงานด้วยระบบและทีมงานที่ตั้งขึ้นมาเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับคุณสมโภชน์และคุณอมรในโครงการต่างๆ มายาวนานและเป็นมืออาชีพ มั่นใจว่าจะพลิกสถานการณ์ได้” 

ส่วนการที่ EA ถูกถอดออกจาก SET ESG Ratings นั้น สิ่งที่บริษัททำได้คือการต้องสร้างความมั่นใจต่อไป พร้อมกับดำเนินธุรกิจตามแผนที่วางไว้ให้ได้เพื่อพิสูจน์ให้ประจักษ์

มั่นใจชำระคืนหนี้ “แบงก์-หุ้นกู้” ครบกำหนด

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง ส่งผลให้บริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการยื่นขอออกตราสารหนี้หรือตราสารทุนต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ได้

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารและทีมงานที่บริหารจัดการยังคงเป็นชุดเดิม สำหรับภาระหนี้สินของบริษัทที่จะครบกำหนดชำระในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ประกอบด้วย ภาระหนี้สถาบันการเงินประมาณ 3,200 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 5,500 ล้านบาทนั้น สามารถชำระได้ด้วยกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมประมาณ 5,000 ล้านบาท (หัก Adder โครงการที่ครบกำหนดแล้ว) 

และเตรียมวงเงินสำรองจากสถาบันการเงินและหุ้นกู้ที่จะเสนอขายเพิ่มเติม โดยหุ้นกู้อยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นเอกสารต่อก.ล.ต เพื่อเสนอขายต่อไป

ธนาคารต่างๆ ยังคงให้การสนับสนุนการเงินกับบริษัท แม้จะเป็นกรณีออกขายหุ้นกู้ได้ไม่จำนวนเท่าที่วางแผน ธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนส่วนที่ขาดหายไป โดยพันธมิตรการเงินหลักของบริษัทคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น, ธนาคารมิซูโฮ และธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นต้น

ตลท. ขึ้น “SP” หุ้น EA รอบริษัทแจง 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการขึ้นเครื่องหมาย H กับ หุ้น EA ช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค. ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับผลกระทบฐานะการเงิน ที่อาจเกิดขึ้นจากภาระหนี้สินโดยเฉพาะเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2567 และแนวทางที่ชัดเจนในการชำระหนี้ดังกล่าว รวมทั้งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัท และต่อมาช่วงการซื้อขายภาคบ่าย ตลท. แจ้งการขึ้นเครื่องหมาย SP แทน เครื่องหมาย H กับหุ้น EA เพื่อพักการซื้อขายเนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถชี้แจงข้อมูลตามที่ให้ชี้แจงเพิ่มเติมได้ การพักนี้มีระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขายจนกว่า ตลท. จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งหากข้อมูลได้ครบถ้วน

ตลท. ถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน

นอกจากนี้ ตลท. เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า คณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนมีมติถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เนื่องจากบริษัทขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ SET ESG Ratings ที่กำหนดไว้ว่า

“ต้องไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีกรรมการหรือผู้บริหารถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ การสร้างผลกระทบด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม” โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป

“ไทยบีเอ็มเอ” ขึ้นเครื่องหมาย IC 

ขณะที่วันเดียวกันนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ก็ได้ขึ้นเครื่องหมาย IC ตราสารหนี้ของ EA ทั้งตั๋วแลกเงิน 4 รุ่น ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ วันที่ 23 ก.ค. 2567 ถึง 12 ธ.ค. 2567 รวมมูลค่า 1,400 ล้านบาท 

รวมถึงหุ้นกู้อีก 16 รุ่น ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2576 มูลค่ารวมราว 31,000 ล้านบาท เพื่อเตือนนักลงทุนเฝ้าระวังการลงทุนต่อไป

“ทริสเรทติ้ง” หั่นเครดิตเป็น BBB+

ส่วน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด หรือ ทริสเรทติ้ง ได้ลดอันดับเครดิตองค์กรของ EA และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับ BBB+ จาก A- ในขณะที่ยังคงแนวโน้มอันดับเครดิต Negative หรือ ลบ เช่นเดิม

พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5.5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ BBB+ ด้วย โดยจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระในส.ค.และก.ย.นี้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...