คนไทยหนี้ท่วม ปัญหาระยะยาวกระทบ"ขีดความสามารถแข่งขัน"

"หนี้สิน"ของประเทศไทยกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนภายในประเทศเป็นวงกว้างถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพและความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย  โดยหนี้ครัวเรือนไทย ถือเป็นประเด็นที่น่าห่วงต่อเนื่อง จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3% โดย 67% เป็นการก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (TTB Analytics) ประเมินหนี้ครัวเรือนปี 67 ของประเทศไทยจะขึ้นสู่ระดับ  91.4%  ต่อ GDP หรือมีมูลค่าประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท โดยมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจและ ระดับรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี

ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  ภาครวมหนี้ธุรกิจ ณ ไตรมาสที่ 4/66 ธุรกิจในประเทศไทยมีหนี้สินสะสมเป็นมูลค่า 12.7 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.7 %  (YoY) ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศมีหนี้ภาคธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 87.4 % ต่อ GDP

ส่วนหนี้สาธารณะ ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ  พบว่า ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะ 11.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 62.5 %  ต่อ GDP

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ได้วิเคราะห์สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจของไทยและผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging market economies เช่นเดียวกับไทย จากข้อมูลธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement: BIS) ปรากฏว่าประเทศไทยมีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market economies) ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 47.6 %  ต่อ GDP (ข้อมูลไตรมาสที่ 3/66) โดยประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น อินโดนีเซียมีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับ  16.3  % อินเดีย 37.2 % จีน 62.4  % และมาเลเซีย 68. 5%   

ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจรวมกันกว่า 28.9 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่มีความน่ากังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ที่ 90.9%  ต่อ GDP สูงกว่าระดับหนี้สูงสุดที่จะสามารถยังคงเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ตามผลการศึกษา หลายฉบับทั้งของไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีระดับหนี้ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับหนี้ครัวเรือนของ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economies)

โดยหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนี้ที่มีสัดส่วน มากที่สุด ขณะที่หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด หากพิจารณารายพื้นที่ ปรากฏว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนครัวเรือนและสัดส่วนของครัวเรือนที่มีหนี้สินสูงกว่าภาคอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ดี กรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปรากร) มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน

“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผอ.สนค. กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในระยะปานกลางถึงยาว ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวภายในอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนยังส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจทั้งผลกระทบทางตรงและผลกระทบ ทางอ้อมจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจ โดยมีตัวอย่างกรณีศึกษาผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อสินเชื่อ ภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่า หากเกิดการชะลอตัวของภาคการก่อสร้างที่อยู่อาศัย จะส่งผลกระทบไปยังธุรกิจที่ เกี่ยวเนื่องแบบ backward linkage โดยธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจก่อสร้างที่อยู่อาศัยในฐานะธุรกิจผลิตสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตให้แก่ธุรกิจ ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 14.5 %   ของมูลค่าการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งหมดของธุรกิจก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย

รองลงมาเป็นธุรกิจผลิตซีเมนต์ บริการค้าปลีก บริการค้าส่ง บริการขนส่งทางถนนโดยรถบรรทุก ตามลำดับ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ดูแลและกำกับนโยบายจึงควรตระหนักต่อหนี้สินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และลุกลามไปยังเสถียรภาพของระบบการเงินและ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ความมีวินัยทางการเงินส่วนบุคคลมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจ สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้เนื่องจากการที่ครัวเรือนและภาคธุรกิจมีหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาครัฐไม่ต้อง นำเงินงบประมาณไปแก้ไขจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นการเบียดบังทรัพยากรและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และนำงบประมาณเหล่านั้นไปใช้ในทางการพัฒนาที่เอื้อต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน อาทิ โครงสร้าง พื้นฐานด้านดิจิทัลและนวัตกรรม การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว การส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง สำหรับรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...