ดัชนีความ (ไม่) เชื่อมั่น ประเทศไทยต้องฟันฝ่า

ไม่อยากเขียนเรื่องร้ายๆ ทำลายขวัญและกำลังใจ แต่บางเรื่องต้องแจ้งไว้เพื่อให้รับมือกันทันดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน มิ.ย. 2567 สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า อยู่ที่ 58.9 ลดลงจาก 60.5 ในเดือน พ.ค. 2567 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 52.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 56.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 67.9 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ

หันไปดูทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นไปในทิศทางคล้ายๆ กัน “การเจริญเติบโตเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็น K-Shape หรือเป็นพีระมิด คือช่วงบนโต คนที่รวยแล้วก็คือรวยอีก รวยไปเรื่อยๆ คนจนก็คือจนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากช่วงของวิกฤติโควิด ทําให้เห็นชัดขึ้นว่าในสังคมไทย การลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนค่อนข้างต่ำอยู่แค่ 1% เท่านั้น ส่งออกก็ติดลบ นําเข้าก็นําเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าวัตถุดิบและพลังงาน นี่เป็นเหตุผลที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว”

เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน มิ.ย. 2567 ยังปรับตัวลดลง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยบอกว่า มาจาก 3 สาเหตุหลักคือค่าครองชีพสูงขึ้น กำลังซื้อหดตัว และสาเหตุที่ 3 คือการเมืองไม่นิ่ง คำนี้ได้ยินมาตลอดเมื่อพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจไทย กรณีนี้คือความไม่แน่ใจต่อสถานภาพของนายกฯเศรษฐาที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย อนาคตผู้นำรัฐบาลยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายลามไปถึงนักลงทุนมาถึงประชาชนในประเทศเป็นเงาตามตัว 

ด้านฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) มองแนวโน้มภาคธุรกิจไทยจากการบรรยายสรุปหัวข้อ Global Financial Market and Thailand's Corporate Credit Outlook ว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของภาครัฐ น่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ รายงานฉบับนี้เหมือนเข้าไปนั่งในใจนายกฯ ทวิตเตอร์ส่วนหนึ่งระบุว่า ไทยจะทิ้งการท่องเที่ยวไม่ได้ เพราะยังเป็นตัวแบกเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบันและปีหน้านี้ จึงเป็นที่มาของการโปรโมตการท่องเที่ยว ดึงดูดเงินต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกระเป๋าเงินดิจิทัลจะเป็นยาแรงที่มากอบกู้เศรษฐกิจในภาคการบริโภคเชื่อมโยงไปสู่ภาคการผลิต 

ท่ามกลางข่าวร้ายประเดประดังมีข่าวเล็กๆ ให้ชื่นใจนิดหน่อย นางฟรานซิส แอดัมสัน ผู้สำเร็จราชการประจำรัฐเซาท์ออสเตรเลียมาเยือนไทยหารือเศรษฐกิจการลงทุน Datuk Seri Reezal Merican Naina Merican ประธานบรรษัทพัฒนาการค้าต่างประเทศของมาเลเซีย (MATRADE)  มาร่วมงาน Malaysian International Healthcare Forum ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทั้งสองเห็นตรงกันเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยการมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลอย่างไรเสียก็ไปต่อได้ ในเมื่อชาวต่างชาติยังมองเห็นโอกาส คนไทยอย่าเพิ่งท้อแท้ ตอนนี้ฮึบๆ สูดหายใจลึกๆ เข้าไว้ศึกนี้ยังอีกยาวไกล

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...