ต่างชาติทิ้ง‘หุ้น-บอนด์’2แสนล้าน ‘ThaiBMA’ ชี้สภาพคล่องไทยสูงรองรับได้

บ่งชี้ผ่านแรงเทขาย “หุ้นไทย” มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และ “ตราสารหนี้ไทย” (บอนด์) มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท รวมเกือบ 2 แสนล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ “ทองคำ-กองทุนอสังหาริมทรัพย์” พบเงินทุนไหลออกเช่นกัน

หนึ่งในเหตุผลอาจจะมาจาก “ความไม่ชัดเจน” ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ “ขาดความเชื่อมั่น” สืบเนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่ การเบิกจ่ายงบภาครัฐล่าช้า และความไม่แน่นอนปัจจัยทางการเมืองกลับมากดดันอีกครั้งรวมถึงมีปัจจัยเฉพาะตัวกดดันหุ้นไทย ซึ่งตลาดรอผลของมาตรการยกระดับและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ชัดเจน

สวนทางกับ “ฟันด์โฟลว์” ที่ไหลเข้าสุทธิใน “ตลาดประเทศเกิดใหม่” (ไม่รวมไทย) ทั้งในตลาดตราสารหนี้มูลค่า 1.45 แสนล้านบาท และตลาดหุ้น มูลค่า 3 ล้านล้านบาท โดยพบว่าส่วนใหญ่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าในตลาดหุ้น อย่าง อินเดีย , จีน , ไต้หวัน 

ขณะที่ตลาดบอนด์ไหลเข้า อย่าง จีน , อินเดีย ด้วยสารพัด “ปัจจัยหนุน” ทั้งราคาสินทรัพย์ลงทุนจีนไม่แพง ทางการจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่อินเดียมีการเติบโตสูงกว่าไทย และยังมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวอีกด้วย

ส่วนตราสารหนี้ไทย ล่าสุดบทวิเคราะห์กลยุทธ์ลงทุนตลาดเกิดใหม่ของ “ธนาคารเจพีมอร์แกน” (J.P. Morgan) ระบุถึงกลยุทธ์การลงทุนตลาดเกิดใหม่ ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยจะได้รับผลกระทบหนัก หลัง 28 มิ.ย. 2567 เนื่องจากตราสารหนี้ของอินเดียเข้าสู่ดัชนี GBI-EM โดยกระบวนการจะเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายในระยะเวลา 10 เดือน และทยอยเพิ่มน้ำหนักตลาดตราสารหนี้อินเดียเดือนละ 1% จนถึงระดับสูงสุด 10% ภายใน 31 มี.ค. 2568 จึงประเมินนักลงทุนต่างชาติจะดึงเงินทุนไหลออก 1.2 แสนล้านบาท “กดดัน” ตลาดตราสารหนี้ไทยเปราะบางนั้น

“กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามมุมมองถึงผลกระทบดังกล่าว “อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ทาง ThaiBMA ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อเนื่อง โดยจากมุมมองดังกล่าวหากฟันด์โฟลว์ไหลออกเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท ประเมินว่าไม่ได้มีผลกระทบอย่างมี “นัยสำคัญ” ต่อตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งมองว่าเป็นความกังวลที่มากเกินไป และยังไม่ได้พบความเสี่ยงต่อความเปราะบาง

“ฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกจากตราสารหนี้ไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันกว่า 6 หมื่นล้าน ไม่ได้เป็นลบอย่างมีนัยสำคัญมาก หากเทียบกับฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกจากหุ้นไทยระดับแสนล้าน ซึ่งที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกในระดับดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนไทยมาแล้วและด้วยสภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่สูงดังนั้นประเมินว่ารองรับได้”

ดังนั้น ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงมีเสถียรภาพ สะท้อนจากข่าวการปรับน้ำหนักเกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อนแล้ว และกองทุนต่างชาติทยอยลดลงน้ำหนักล่วงหน้า ซึ่งไม่ได้เป็นเม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ครึ่งแรก ปี 2567 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย ทั้งไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 รวมเป็นมูลค่าขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทย 66,514 ล้านบาท ซึ่งมาจากหลายปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด

ขณะที่ สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยปรับลดลงเล็กน้อยจาก 7% มาอยู่ที่ 5% ประเมินระยะข้างหน้ามีโอกาสปรับลดลงบ้างแต่การปรับลดลงจำกัดแล้วประกอบกับด้วยสภาพคล่องในประเทศอยู่ระดับสูง ทั้งเงินฝากและความต้องการพันธบัตรของนักลงทุนไทยรองรับอีกมาก ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ด้วยบอนด์ยีลด์และค่าเงินบาทยังทรงตัว ไม่ได้ถูกกระชากขึ้นแรงจนส่งผลกระทบต่อการออกพันธบัตรระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน

ดังนั้น มองระยะข้างหน้าสัดส่วนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทย ยังมี “โอกาสเพิ่มขึ้นได้” เช่นกัน หากสถานการณ์ข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นสนับสนุน ทั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น และครึ่งปีหลังเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย คาดฟันด์โฟลว์จะไหลกลับมาตลาดประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยด้วย

“ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นฐานดี ทั้งด้านเศรษฐกิจ รัฐเร่งเบิกจ่าย ท่องเที่ยวและส่งออก รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่งซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อความเสี่ยงของประเทศมีโอกาสถูกปรับลดลงแต่อย่างใด ทำให้ต้นทุนการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น แต่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อ จากปัจจัยกระทบมาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก”

“ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล” Director ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่ากองทุนต่างชาติประเภท Active Fund น่าจะมีการปรับน้ำหนักรับข่าวไปก่อนล่วงหน้าบางส่วนแล้ว คาดว่าสถานะของกองทุนต่างชาติ โดยภาพรวม น่าจะปรับลดน้ำหนัก (Underweight ตราสารหนี้ไทย) ไปก่อนอยู่แล้วเช่นกัน

ดังนั้น จะเห็นได้เมื่อถึงเวลาปรับน้ำหนักจริง ปัจจุบันก็ยังมีสภาพคล่องในประเทศก็ช่วยซึมซับการไหลออกของกระแสเงินทุนต่างชาติ ทำให้บอนด์ยีลด์ไทยไม่ได้“ดีดตัวขึ้นแรง”อย่างมีนัยสำคัญรวมถึงความเสี่ยงประเทศหากถูกปรับลดเครดิต จะมีผลต่อต้นทุนการออกบอนด์ ก็เป็นความกังวลล่วงหน้ามากๆ พื้นฐานศกไทยยังดีฐานะการเงิน ทุนสำรอง ดีมีแค่จีดีพี รัฐบาลคงมีมาตรการมาดูแล

“สงวน จุงสกุล” ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว และนักลงทุนต่างชาติทยอยปรับพอร์ตล่วงหน้าไปบ้างแล้ว สัดส่วนถือครองบอนด์ไทยของต่างชาติจาก 7% อาจลดลงมาที่ 5-6% ได้ ซึ่งลดลงไม่มากแล้ว สะท้อนจากแรงขายในตลาดบอนด์ไทยปีก่อนกว่า 1 แสนล้านบาท คาดว่าในปีนี้ตลาดบอนด์ไทยจะทรงตัวและไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ถือว่า ตลาดบอนด์ไทยไม่ผันผวน ยังมีเสถีบรภาพ

สะท้อนไปค่าเงินบาทในปีนี้ ยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึงปัจจัยการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด และดอกเบี้ยนโยบายของไทย คงไม่เกิดขึ้นในปีนี้ หรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้ง ก็ยังต้องติดตาม แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่ลดลงในทันที

ขณะที่ปกติช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี เป็นไฮซีซันเศรษฐกิจประเทศปรับตัวดีจากการใช้จ่ายบริโภคและการท่องเที่ยว ดังนั้น มีโอกาสเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าหลุดระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ได้บ้าง แต่มองว่าไม่ได้ทำให้บอนด์ยีลด์กระชากขึ้นแรงจนทำให้ต้นทุนออกบอนด์สูงเกินไปจนกลายเป็นอุปสรรคต่อความต้องการระดมทุนของภาครัฐและเอกชนแต่อย่างใดและมองระยะถัดไปจีดีพีไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

ตัวเลขที่ประกาศออกมาดีกว่าจีดีพีประเทศเกิดใหม่ อย่าง “อินเดียและเวียดนาม” ที่จะประกาศออกมา มองจะสามารถดึงฟันด์โฟลว์กลับเข้าตลาดบอนด์ไทยได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...