‘ไทยสมายล์บัส’ ปฏิรูปรถเมล์ไทย ส่ง ‘HOP Card’ ตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะ

โดยปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมุ่งพัฒนาส่วนของ “ตั๋วร่วม” ที่จะรองรับระบบขนส่งทางราง ผ่านร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... สามารถบริหารจัดการต้นทุน ค่าโดยสาร และมาตรฐานบริการ รวมทั้งประชาชนสามารถใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียวในการแตะจ่ายตลอดการเดินทาง คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเสนอรัฐสภาพิจารณาภายในเดือน ธ.ค. 2567 - ก.ค. 2568

ขณะที่รถโดยสารประจำทาง หรือ “รถเมล์” ซึ่งเป็นขนส่งสาธารณะ มีประชาชนใช้บริการเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 1 ล้านคนต่อวัน ปัจจุบัน “ไทยสมายล์บัส” ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ครองเส้นทางเดินรถ 123 เส้นทาง และครองสัดส่วนผู้โดยสารอยู่ที่ 3 แสนคนต่อวัน มีเป้าหมายจะพัฒนาตั๋วร่วมในแบบฉบับรถเมล์ ภายใต้ชื่อ “HOP Card” ให้สามารถรองรับแตะจ่ายบริการขนส่งสาธารณะ ตลอดจนร้านค้า ร้านอาหารและบริการต่างๆ ที่อยู่โดยรอบเส้นทางเดินรถ

กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายยกระดับระบบขนส่งมวลชนของไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในหลายประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งรุดหน้าเป็นอย่างมาก หลายเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนมาสู่พลังงานสะอาดที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV Bus)

อีกทั้งระบบขนส่งของหลายประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะไต้หวัน พบว่ามีการต่อยอดบริการผู้โดยสารด้วยบัตรโดยสารใบเดียวสามารถเชื่อมโยงระบบการใช้บริการได้ครบถ้วน รถ-เรือ-ราง ไล่เรียงตั้งแต่ รถไฟฟ้า Metro Taipei, Kaohsiung Metro & LRT, Metro Taiyuan, Metro Taichung, New Taipei Metro, รถไฟ Taiwan Railway,รถไฟความเร็วสูง, รถเมล์ EV Bus, รถรับส่ง Shuttle Bus, เรือเฟอร์รี่, รถแท็กซี่ ไปจนถึงบริการเช่าจักรยาน T-Bike และ You Bike

กลับกันในประเทศไทยของเรายังติดปัญหาไม่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายได้อย่างแท้จริง แม้ปัจจุบันบริษัทฯ มีการนำร่องเชื่อมต่อรถเมล์ไฟฟ้า กับเรือโดยสารไฟฟ้าในเครือเรียบร้อยแล้ว และเจรจากับผู้ประกอบการขนส่งทุกรายให้เข้าร่วมใช้ระบบดังกล่าว แต่ต้องยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดอีกมาก ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของภาครัฐเข้ามาเป็นคนกลาง

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าปฏิรูปบริการรถเมล์ไทย ด้วยการศึกษาระบบบัตรโดยสาร “ไต้หวันโมเดล” สู่การต่อยอดบัตรโดยสาร HOP Card ให้สามารถใช้ชำระค่าสินค้า-บริการ ให้ได้เหมือนกับ Easy Card ของไต้หวัน ที่ใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ใช้จ่ายค่าบริการร้านอาหาร สวนสนุก โรงแรม ขึ้นกระเช้าท่องเที่ยว พร้อมทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการ

นอกจากบริษัทฯ ยังเตรียมพัฒนาบริการในแอปพลิเคชัน TSB Go Plus เพิ่มฟังก์ชันตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น Personal AVM การแตะอัปเดตบัตรโดยสารด้วยเทคโนโลยี NFC จากสมาร์ตโฟน นอกเหนือจากบริการในปัจจุบันที่ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบเวลาเดินรถ เช็กประวัติการเดินทางย้อนหลัง และร้องเรียนติชมพนักงานผู้ให้บริการได้

ด้านวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ TSB เผยว่า “ตั๋วร่วม” ในไทยยังเป็นแค่เรื่องที่หลายฝ่ายต้องการพัฒนา แต่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแท้จริงแล้วตั๋วร่วมควรใช้ได้ในทุกระบบขนส่ง ครอบคลุมไปถึงการซื้อสินค้า เพื่อให้ประชาชนพกบัตรเพียงใบเดียวในการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างความสะดวกสบายในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ

โดยปัจจุบันบริษัทฯ กำลังต่อยอดบัตร HOP Card ที่เคยเป็นเพียงบัตรใช้แตะจ่ายค่าโดยสาร ให้เป็นตั๋วร่วมในการใช้ขนส่งสาธารณะ ร้านค้า และบริการต่างๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดินรถของไทยสมายล์บัส ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่างเจรจาหาพาร์ทเนอร์ผู้ประกอบการที่อยู่ตามแนวเส้นทางเดินรถในปัจจุบัน 123 เส้นทาง คาดว่าจะมีพาร์ทเนอร์เข้าร่วมกว่า 300 ราย โดยน่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปร่าง 1-2 เดือนนี้

อีกทั้งบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับ “ไมเนอร์กรุ๊ป” เพื่อนำบัตร HOP Card ใช้เป็นส่วนลดในการเข้าใช้บริการต่างๆ อาทิ โรงแรม สปา ร้านค้า และร้านอาหาร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเชื่อว่าการขยายหาพาร์ทเนอร์ใช้บัตร HOP Card ยังจะช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายบัตรโดยสาร สร้างการรับรู้ และทำให้บัตรโดยสารใบนี้เป็นตั๋วร่วมของประชาชนในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ คาดการณ์ว่า ด้วยกลยุทธ์เพิ่มพาร์ทเนอร์นี้จะทำให้จำนวนผู้ใช้บัตร HOP Card เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีสมาชิก 1.3 แสนใบ และยอดลงทะเบียนใช้บัตร 5-6 หมื่นราย จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนสมาชิกและยอดลงทะเบียนใช้บัตร 3 – 4 แสนรายภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเตรียมออกแบบบัตรโดยสารให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยจะสนับสนุนศิลปินไทยในการออกแบบลายบัตรโดยสารแบบลิมิเตด และต่อยอดไปถึงบัตรโดยสารลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ต่างๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ใช้บริการไทยสมายล์บัสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การพัฒนาบริการต่างๆ ของบริษัทฯ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ให้ถึง 7 แสนคนต่อวัน เพิ่มจากปัจจุบันที่มีเฉลี่ย 3 แสนคนต่อวัน รวมทั้งเพิ่มรายได้จากค่าโดยสารสูงถึง 14 ล้านบาทต่อวัน จากปัจจุบันที่มีประมาณ 5 ล้านบาทต่อวัน โดยเป้าหมายเพิ่มปริมาณผู้โดยสารและรายได้ดังกล่าว จะทำให้บริษัทฯ กลายเป็นเบอร์ 1 ในการให้บริการรถโดยสารประจำทาง แซงหน้าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ปัจจุบันครองแชมป์ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 6 แสนคนต่อวัน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...