‘ไทยเที่ยวไทย’ กำลังซื้อดิ่ง-หนี้บาน ค่าใช้จ่าย Q2 หดเหลือ 2,683 บาท/คน/ทริป

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนผ่านผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 2 ปี 2567” จัดทำโดย สทท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ “ระดับ 79” (ค่าปกติคือ 100) ต่ำกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ระดับ 81 และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ดีกว่าไตรมาส 2/2566 ซึ่งอยู่ระดับ 72

จากคาดการณ์ของผู้ประกอบการไตรมาสที่ผ่านมา คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2/2567 จะดีกว่าไตรมาส 1/2567 เนื่องจากเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ภาครัฐจะได้รับอนุมัติและจะเบิกจ่ายถึงมือประชาชนได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มพลิกฟื้นและส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่คาดไว้! เม็ดเงินจากภาครัฐยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 2

ประกอบกับไตรมาส 2 เป็นช่วงโลว์ซีซัน เนื่องจากเป็นฤดูร้อนของประเทศไทย ปีนี้คนไทยทั่วทุกภูมิภาคต้องเจอกับ “สภาพอากาศสุดขั้ว” และภัยแล้งในเดือน เม.ย. ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2 ตกลงมาต่ำกว่าไตรมาส 1 และต่ำกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2 ได้รับแรงส่งจาก “เทศกาลมหาสงกรานต์” ที่จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ระดับ 75 สะท้อนการคาดการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจในไตรมาส 3 ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะแย่ลงกว่าไตรมาส 2 แต่ยังถือว่าดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 69 โดยไตรมาส 3 ถือเป็นช่วงโลว์ซีซัน มีวันหยุดและเทศกาลสำคัญน้อยกว่าไตรมาส 2 และเป็นเทศกาลที่ไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากนัก

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังมีปัญหา “กำลังซื้อภายในประเทศ” ที่หดตัว ประกอบกับการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ “คนไทยตกงาน” เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้ “หนี้ครัวเรือน” มีแนวโน้มการผิดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศที่อาจชะลอตัวลงได้อีกในระยะข้างหน้า!

รายงาน สทท. ระบุเพิ่มเติม ถึงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท เกี่ยวกับแผนการเดินทางในไตรมาส 3/2567 โดยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ จำนวน 450 คนทั่วประเทศ กระจายตามเพศ ภูมิภาค อาชีพและช่วงรายได้ ผลการสำรวจพบว่า “ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัด” (ไม่รวมค่าเดินทาง) ในไตรมาส 2/2567 เป็นเงินประมาณ “2,683 บาท/คน/ทริป” ลดลงกว่าไตรมาส 1/2567 อย่างมาก! จากค่าใช้จ่ายประมาณ 6,856 บาท/คน/ทริป

ส่วนการพักค้างคืนต่างจังหวัดในไตรมาส 2/2567 ค้างคืนเฉลี่ยคนละ 4.79 คืน/ไตรมาส มากกว่าไตรมาส 1/2567 ซึ่งอยู่ที่ 3.38 คืน/ไตรมาส ขณะที่คาดการณ์ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 4.55 คืน/ไตรมาส

ด้านไตรมาส 3/2567 คนไทยมีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด 57% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าไตรมาส 2/2567 (64%) และไตรมาส 1/2567 (74%) รองลงมา 33% ยังไม่ทราบว่าจะไปต่างจังหวัดหรือไม่ และอีก 10% คือไม่มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด

กว่า 76% ของประชาชนที่เดินทางไปต่างจังหวัดในไตรมาส 3/2567 ส่วนใหญ่เป็น “การเดินทางข้ามภูมิภาค” จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่เป็นภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยกว่า 75% ของคนที่วางแผนเดินทางจะเดินทางในเดือน ก.ค. รองลงมา 69% วางแผนเดินทางในเดือน ส.ค. และ 48% จะเดินทางในเดือน ก.ย.

เฉพาะวันหยุดยาว 4 วัน ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา ประชาชนมีแผนเดินทางไปต่างจังหวัดและมีการพักค้างคืนมากกว่าวันหยุดและเทศกาลอื่นๆ โดย 25% เป็นการเดินทางข้ามภูมิภาค ส่วน 34% เลือกเที่ยวในจังหวัดตัวเอง และ 30% ไม่มีแผนการเดินทาง

ด้านตลาด “ไทยเที่ยวนอก” จากการสำรวจพบว่าคนไทยมีแผนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดในไตรมาส 1/2567 กว่า 23% เมื่อดูเฉพาะไตรมาส 3/2567 พบว่า 16% คนไทยมีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้ ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่แตกต่างจากไตรมาส 4/2566 และไตรมาส 2/2567 โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมคือ ญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน

สทท.ยังสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “สถานภาพทางการเงินและหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศ” พบว่า ประชาชน 58% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนโควิด และกว่า 80% มีภาระหนี้สิน โดยมีภาระหนี้เฉลี่ยประมาณ 33% ของรายได้ กว่า 36% มีรายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้บางเดือน แต่ยังสามารถชำระได้ ขณะที่ 3% มีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่ได้แล้ว

เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับค่าใช้จ่าย พบว่าประชาชนกว่า 54% มีเงินเหลือเก็บเล็กน้อย โดยกว่า 38% มีรายได้แบบเดือนชนเดือน ส่วน 6% มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีเพียง 2% เท่านั้นที่มีเงินเหลือเก็บจำนวนมาก

ด้านพฤติกรรม “การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว” พบว่า 49% ลดความถี่ในการท่องเที่ยวให้น้อยลง แต่การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเหมือนเดิม ส่วน 25% ไม่แตกต่างไปจากเดิม ขณะที่ 19% ความถี่ในการท่องเที่ยวเหมือนเดิมแต่ลดค่าใช้จ่ายลง และอีก 4% งดกิจกรรมการท่องเที่ยว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...