'ส.อ.ท.' ชงรัฐหนุนอุตฯ เครื่องมือแพทย์ เพิ่มตลาดกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ไทย 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย Cluster of  FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE จัดงานเสวนา “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รองรับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (Part Transformation)” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) 

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า ส.อ.ท. ภายใต้นโยบาย ONE FTI. มีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ซึ่งประกอบไปด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่ (Next-Gen Industries) ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve 

ดังนั้น ส.อ.ท. จึงมีแนวทางการจัดตั้ง Cluster of  FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของยานยนต์สมัยใหม่กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ซึ่งคาดกันว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ทั้ง Supply Chain ต้องปรับตัว โดยส่วนหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ นอกเหนือจากที่ธุรกิจต้องหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจแล้ว ภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนามาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้สินค้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพร้อมกับรองรับอุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย

นางสาวยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ประสบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต (Technology Disruption) รวมถึงมีการออกมาตรการที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้ลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา 

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ Cluster of FTI Future Mobility-ONE จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย ภายใต้แนวคิด “Strong global production hub with industry transformation” โดยมีข้อเสนอ อาทิ การรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ เตรียมพร้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)     

และที่สำคัญ CFM-ONE ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Parts Transformation) เช่น ระบบราง หรือเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถปรับเปลี่ยนหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เดิมผลิตชิ้นส่วนเพื่อโรงงานผลิตยานยนต์เท่านั้น มาเป็นกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ (Diversification Strategy) และต่อยอดสู่การผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีความสามารถในแง่การผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ 

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงต้นทุน ทักษะและเทคโนโลยี เพื่อรักษาธุรกิจ การจ้างงาน พร้อมทั้งการยกระดับการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หรือในบางธุรกิจที่ไม่สามารถไปต่อกับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ยังสามารถพัฒนาได้

ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เริ่มประกอบธุรกิจที่มีความหลากหลาย เช่น การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากขึ้น โดยผลิตสินค้าที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน โดยผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ supply chain ของอุตสาหกรรมอื่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น

นายจารุเดช คุณะดิลก รองประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในนามอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ มีความยินดีที่จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ ยานยนต์ ในการหาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่มีความเป็นไปได้ มาผลิตหรือดัดแปลง จากชิ้นส่วนยานยนต์ โดยหาแนวทางการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ องค์ความรู้ว่าด้วยมาตรฐานทางการแพทย์ เทคโนโลยีการผลิต กระบวนการคิดค้นเครื่องมือแพทย์เพื่อออกสู่ตลาดที่มีความซับซ้อน อัตราภาษีนำเข้าเครื่องมือแพทย์สำเร็จรูปที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตไม่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังขาดนโยบายการสนับสนุนให้โรงพยาบาลใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตจากการวิจัยและการพัฒนาภายในประเทศ รวมถึงมาตรฐานและข้อกำหนดของเครื่องมือแพทย์จากภาครัฐที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละลำดับชั้นของเวชภัณฑ์ที่จำแนกตามระดับความเสี่ยงในการใช้งาน 

“ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งรัดพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทยให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก ตั้งแต่การปรับปรุงกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การสนับสนุนมาตรการด้านภาษีให้สถานพยาบาลที่เป็นภาคเอกชนให้เอื้อต่อการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้แก่ผู้ใช้งานตามสถานพยาบาล ที่ผ่านกระบวนการการรับรองหรือขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)"  

ทั้งนี้ การให้ข้อมูลเครื่องมือแพทย์ที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐที่สูง เพื่อเป็นข้อมูลการตลาดให้ผู้ผลิตและนักวิจัย โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์และหน่วยวิจัยของภาครัฐ การผลักดันนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์สู่เชิงพาณิชย์ และสามารถขยายการผลิตสู่ Mass Production พร้อมกับเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต่อการทดสอบเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตได้ในไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น ISO17025 หรือ IEC60601 ในราคาที่เหมาะสม และมีขั้นตอนรวดเร็ว รวมถึงการยกเว้นพิกัดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อยกระดับและส่งเสริมขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ของไทยต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...