สายตรงเศรษฐา นั่งบอร์ด Cloud First Policy ต่อยอดดึงบิ๊กเทคลงทุนคลาวด์ในไทย

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.67 ที่ผ่านมาเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy)  ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางเกี่ยวกับการส่งเสริมการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักของประเทศ รวมทั้งจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลาวด์ วางโครงสร้างการบริหาร แนวทางการบริหารจัดการด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารจัดการข้อมูล กระบวนการในการเลือกใช้คลาวด์ รวมทั้งการโอนย้ายระบบงานของภาครัฐ และเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

รวมไปถึงการเสนอแนะต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เกี่ยวกับการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายCloud First Policy รวมทั้งเสนอมาตรการในการดำเนินการ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติการตามนโยบายดังกล่าวด้วย

ผ่าองค์ประกอบบอร์ด Cloud First Policy

ทั้งนี้หากดูในส่วนของกรรมการในบอร์ด Cloud First Policy มีองค์ประกอบทั้งที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการที่เป็นตัวบุคคล โดยกรรมการในตำแหน่ง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ขณะที่กรรมการที่เป็นตัวบุคคลปรากฏไว้ด้วย 4 คน ได้แก่ นายศุภกร คงสมจิตต์ นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ และนายฉัตริน จันทร์หอม

ทั้งนี้ในส่วนของกรรมการที่เป็นตัวบุคคล ทั้ง 4 รายชื่อถือว่าเป็นมือทำงานที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี เป็น "ทีมตึกไทยคู่ฟ้า"  โดยอยู่ในส่วนของทีมการทำงานเรื่องการติดตามความร่วมมือในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 

1.ศุภกร คงสมจิตต์ คณะทำงานนายกรัฐมนตรี ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ คีย์แมนเบื้องหลังการเจรจา และติดตามการลงทุนของบริษัทชั้นนำระดับโลก และเป็นกรรมการ คณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

2.พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง (เศรษฐกิจ) อดีตผู้สมัคร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย บุตรชาย ‘สมชัย อัศวชัยโสภณ’ ที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย (เกรียง กัลป์ตินันท์)

3.ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย

4.ฉัตริน จันทร์หอม ทีมงานส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา มาตั้งแต่เลือกตั้งปี 2566 ที่มาดูเรื่องภาพลักษณ์-บทพูด-การสื่อสารต่างๆ ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่มาจากทีม Boston Consulting Group (ฺBCG) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่เข้ามาเป็นทีมการทำงานของนายกรัฐมนตรีบนตึกไทยคู่ฟ้า

 

 

ต่อยอดดึงต่างชาติลงทุนคลาวด์

ที่ผ่านมานโยบายการ “คลาวด์เป็นหลัก”  หรือนโยบาย “Cloud First Policy” ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญโดยได้มีการหารือแลกเปลี่ยน และประกาศความร่วมมือนโยบายนี้กับผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่างชาติ เช่น ในเดือนพ.ย.ปี 2566 ในการลงนาม MOU กับ   

บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รัฐบาลไทย และไมโครซอฟท์ประกาศความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี โดยไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาระบบคลาวด์ภาครัฐ ตามนโยบาย Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ขณะเดียวกันในเดือนธ.ค.ปีก่อนระหว่างการร่วมงาน Digital Samart Thailand จัดโดย Google ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Google เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเทคโนโลยีสำคัญอย่างเช่น AI ในระบบคลาวด์

โดยการจัดทำนโยบาย Go Cloud First รัฐบาลได้ร่วมมือกับ Google ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะนำนโยบายนี้ไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในการดำเนินการของรัฐบาลจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน โดยรัฐบาลได้นำคำแนะนำ และแนวทางปฏิบัติแนะนำระดับนานาชาติจาก Google มาเป็นแนวทางในการร่างนโยบาย เช่น การอนุญาตให้มีการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลพร้อมด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยผ่านคีย์การเข้ารหัส และการกำหนดประเภทของข้อมูลที่อาจจะต้องจัดเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมของคลาวด์ที่ตัดขาดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แบบ (Fully Air-gapped) ได้

การตั้งบอร์ด Cloud First Policy ในครั้งนี้แม้นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นประธานเองแต่มีกรรมการที่เป็นสายตรงจากนายกรัฐมนตรี และเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านต่างประเทศให้นายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้น ทำให้น่าติดตามว่าทิศทาง และนโยบายที่จะออกมาจากบอร์ดนี้จะสนับสนุนให้มีการลงทุนจากบิ๊กเทคจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านคลาวด์ในประเทศไทยมากน้อยอย่างไร

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...