กางสัมปทาน 'ดอนเมืองโทล์ลเวย์' เบื้องหลังปรับค่าผ่านทางสูงสุด 170 บาท

บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทล์ลเวย์ ออกประกาศและประชาสัมพันธ์ เรื่องการปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ในวันที่ 22 ธ.ค. 2567 เวลา 00:01 น. บริษัทฯ จะปรับอัตราค่าผ่านทางที่คู่สัญญาสัมปทานกำหนดตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2550 สำหรับรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค.2567 ถึงวันที่ 21 ธ.ค. 2572

โดยช่วงดินแดง - ดอนเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลง 10 บาท (ค่าเฉลี่ย 2 บาทต่อปี) และช่วงดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน จะมีการเปลี่ยนแปลง 5 บาท (ค่าเฉลี่ย 1 บาทต่อปี) จากอัตราค่าผ่านทางในปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราค่าผ่านทางจะเริ่มต้นสำหรับรถ 4 ล้อประเภทที่ 1 อยู่ที่ 40 บาท และสูงสุด 130 บาท ส่วนรถมากกว่า 4 ล้อ ประเภทที่ 2 จะเริ่มต้น 50 บาท และสูงสุด 170 บาท

อย่างไรก็ดี จากประกาศดังกล่าวเกิดกระแสวิจารณ์ในสังคมอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าผ่านทางของทางด่วนโทล์ลเวย์ มีราคาสูงสุดถึง 110 บาทแล้ว อีกทั้งยังมีหลายฝ่ายต้องการให้ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคมนำโครงการดังกล่าวกลับมาบริหารเอง เนื่องจากสัญญาสัมปทานปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2577 และเชื่อว่าหากภาครัฐเข้ามาบริหารโครงการ จะทำให้อัตราค่าผ่านทางปรับลดลง

ขณะที่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบเรื่องดังกล่าวและเผยว่า ตนได้โทรศัพท์สายตรงไปยัง นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เพื่อเจรจาให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจากประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นของการเจรจาโดยทางเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ

แต่อย่างไรก็ดี มีเงื่อนไขขอให้ภาครัฐพิจารณาชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ บีอีเอ็ม ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับการปรับโครงสร้างอัตราค่าผ่านทางลงเหลือ 50 บาทตลอดสาย ตนจึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) คู่สัญญาโครงการทางด่วนโทล์ลเวย์ ศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบกรณีปรับลดค่าผ่านทาง ต้องคงอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมไม่เป็นภาระประชาชนมากเกินไป

อีกทั้งหากปรับลดค่าผ่านทางลงจะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอย่างไร และการดำเนินงานเหล่านี้จะจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการทางด่วนโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยหากปริมาณการใช้ทางด่วนปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันปริมาณ 4 – 5 หมื่นคันต่อวัน เป็น 8 หมื่นคันต่อวัน ทางด่วนจะมีขีดความสามารถรองรับเพียงพอหรือไม่ โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน 2 – 3 เดือนนี้

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางของดอนเมืองโทล์ลเวย์ เป็นไปตามสัญญาสัมปทานกำหนด โดยหากไม่มีการเจรจาชะลอปรับลดค่าผ่านทาง และปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมด ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานอีก 2 ครั้ง โดยมีกำหนดปรับในเดือน ธ.ค.2567 และ ธ.ค. 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนดการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี

ขณะที่สัญญาสัมปทานระหว่าง ทล. และ “ทางยกระดับดอนเมือง” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง เป็นที่มาของอัตราค่าผ่านทางที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน บนโครงข่ายทางด่วนระยะทาง 21 กิโลเมตร

  • ปี 2532 ลงนามสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางยกระดับ

บริษัททางยกระดับดอนเมือง ได้ลงนามสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางยกระดับจาก ทล. เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2532 โดยได้เริ่มก่อสร้างทางยกระดับตั้งแต่ กม. 5+700 บริเวณดินแดง ถึง กม. 21+100 บริเวณดอนเมือง ระยะทางประมาณ 15.4 กิโลเมตร ซึ่งเรียกว่า “โครงการส่วนเริ่มต้น”

  • ปี 2538 ลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 1/2538

บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 1/2538 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2538 และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,622 ล้านบาท ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ

  • ปี 2539 ก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือและลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 2/2539

เนื่องจากรัฐบาลมีความประสงค์ให้บริษัทฯ ขยายเส้นทางออกไปทางทิศเหนือตั้งแต่ กม. 21+100 บริเวณดอนเมือง ถึง กม. 26+700 บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ต่อจาก “โครงการส่วนเริ่มต้น” อีกประมาณ 5.6 กิโลเมตร โดยเรียกว่า “โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ” เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดบริเวณหน้าสนามบินดอนเมือง

ซึ่งรัฐบาลได้จัดหาแหล่งเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนระยะยาวจำนวน 8,500 ล้านบาท เพื่อมาใช้คืนหนี้ของเจ้าหนี้เดิม และปรับปรุงอัตราค่าผ่านทาง ขยายอายุสัมปทานจากปี 2557 ไปถึงปี 2564 และกระทรวงการคลังเข้ามาลงทุนในบริษัทฯ จำนวน 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถขยายโครงการดังกล่าวได้และมีการลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 2/2539 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2539

  • ปี 2550 ลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 3/2550

หลังจากเปิดให้บริการทางหลวงสัมปทานทั้ง 2 ส่วน บริษัทฯ ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานจากทางภาครัฐ ทำให้มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ และมีผลขาดทุนสะสมสูงสุดในปี 2549 จำนวน 5,601 ล้านบาท จนทำให้บริษัทฯ ได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้กับกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินและกลุ่มเจ้าหนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างหลายครั้งในช่วงระหว่างปี 2541-2551

รวมถึงเจรจากับภาครัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการทางศาล จนในที่สุดสามารถบรรลุข้อตกลงและได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานฉบับ 3/2550 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2550 โดยมีเงื่อนไขที่ได้รับการปรับปรุงที่สำคัญ ได้แก่ การปรับอัตราราคาค่าผ่านทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้าตามสัญญาสัมปทานโดยไม่ต้องขออนุมัติ และได้รับการขยายอายุสัมปทานจนไปสิ้นสุดวันที่ 11 ก.ย. 2577

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...