'น้ำดื่มสิงห์' หาช่องโตแบบเฮลท์ตี้ บาลานซ์สงคราม 'ราคา-สร้าง Brand Love'

 

เป็นที่รู้กันดีว่า “ตลาดน้ำดื่ม” เป็นอีกสังเวียนที่แข่งกันด้วย “สงครามราคา” เกือบตลอดทั้งปี เพราะน้ำดื่มเป็นสินค้าที่ตัดสินใจซื้อและเปลี่ยนใจหรือเกิดการ switch brand ง่ายเมื่อยู่หน้าตู้แช่ เชลฟ์ หากมีแรงจูงใจใหม่ๆ

“น้ำดื่มสิงห์” ถือเป็นผู้นำตลาดน้ำดื่มที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ทว่า เกมรักษาแชมป์ จะมุ่งหั่นราคา อัดโปรโมชั่นอย่างเดียว ย่อมไม่ยั่งยืน และอาจเฉือนเนื้อ ทำให้ต้องสร้าง Brand Love อย่างต่อเนื่องด้วย ผ่านกลยุทธ์ความร่วมมือหรือ Collaboration กับพันธมิตรสร้างการเติบโต

ทั้งนี้ ด้านการสร้างแบรนด์ เป็นเวลา 5 ปีที่น้ำดื่มสิงห์ใช้กลยุทธ์ Collaboration กับคาแร็กเตอร์สุด Cute ผ่านการ์ตูนตัวโปรดที่ครองใจผู้คน เริ่มจาก My Little Pony, Frozen, Mickey Mouse, โดราเอมอน และ Toy Story มาอยู่บนฉลาก

ล่าสุด น้ำดื่มสิงห์เดินหน้าคอลแลปกับ “แคร์แบร์ (Care Bears)” ตุ๊กตาหมีขวัญใจผู้คนทั่วโลกยาวนานกว่า 40 ปี นำน้องหมีทั้ง 7 มาดีไซน์ฉลากลิมิเต็ด เอดิชั่น สำหรับบรรจุภัณฑ์ขนาด 330 มิลลิลิตร(มล.)จำหน่ายผ่านช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต และขนาด 750 มล. จำหน่ายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

สร้างฐานลูกค้าตั้งแต่เด็ก

การเลือกคาแร็กเตอร์การ์ตูนต่างๆ มาอยู่บนฉลาก ไม่เพียงสร้าง Brand Love เชื่อมผู้บริโภค แต่ยังเป็นการเอาใจกลุ่มเป้าหมายเด็กๆด้วย เพราะการซื้อน้ำดื่มนอกจากเด็กเลือกเองจากฉลากที่ชอบ ยังมีพ่อแม่ที่พร้อมเอาใจบุตรหลาน และพ่อแม่ที่เป็นแฟนคลับการ์ตูนต่างๆ ต้องการซื้อน้ำดื่มให้ลูกๆด้วย

เป็นการดักกลุ่มเป้าหมาย 2 ทาง คือเด็กที่เลือกแบรนด์น้ำดื่มเอง และพ่อแม่เป็นคนเลือกให้ลูกๆเพราะลวดลาย ดีไซน์ฉลากน่ารักน่าสะสม การคอลแลปคาแร็กเตอร์ดัง ยังเป็นการสร้างฐานลูกค้าตั้งแต่เด็ก ซึ่งเด็กยังไม่มีความชื่นชอบแบรนด์ใดๆ หรือ Brand Preference เพราะเด็กวันนี้จะเติบโตในวันหน้า ดังนั้นการเลือกคาแร็กเตอร์มาร่วมทำแคมเปญการตลาดจึงต้องเลือกจากที่เด็กชอบ ผู้ใหญ่รู้จัก หากเด็กชอบมาก แต่ผู้ใหญ่ไม่รู้จักก็จะยังไม่เลือกมาทำตลาด”

นอกจากนี้ เหล่าคาแร็กเตอร์ต่างๆ ยังเป็นอีกแม่เหล็กที่ดึงผู้บริโภคที่ไม่สนใจ “เรื่องราคา” ให้เปลี่ยนใจหน้าตู้แช่เพื่อเลือกซื้อน้ำดื่มสิงห์ด้วย

“การนำคาแร็กเตอร์ต่างๆมาอยู่บนฉลาก เพราะผู้บริโภคที่ซื้อน้ำดื่มเห็นทันที ฉลากเป็นสิ่งสำคัญทำให้เกิดประสิทธิผลหรือ Effective ในการทำตลาด ซึ่งนอกจากน้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่เพอร์ร่า ก็เห็นผลลัพธ์ที่ดีจากการคอลแลปกับพาร์ทเนอร์”

ทั้งนี้ จากการดึงคาแร็กเตอร์ระดับโลกมาคอลแลปกับน้ำดื่มสิงห์ ส่งผลให้ยอดขายมีการเติบโต 20-30% แนวทางการใช้คาแร็กเตอร์จากนี้ไปยังคงไม่เลือก “ซ้ำ” กับที่ทำตลาดไปแล้ว

น้ำดื่มต้องเติบโตแบบ Healty

เนื่องจากตลาดน้ำดื่มแข่งขันราคาดุเดือด และลดราคากันตลอดทั้งปี โจทย์ของน้ำดื่มสิงห์คือสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หรือ Healty Growth สร้างยอดขายเพิ่มแล้ว ต้องทำ “กำไร” ได้ด้วย

ทั้งนี้ น้ำดื่มถือเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก ขณะที่ “ต้นทุน” อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าขนส่งหรือโลจิสติกส์ที่เป็นสัดส่วนใหญ่ รวมถึงต้นทุนบรรจุภัณฑ์ เช่น พลาสติกพีอีที(PET) ดังนั้น จะหั่นราคาตลอดทั้งปีย่อมไม่ได้ เพราะโปรโมชั่นนั้นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล(FYI-เพื่อเป็นส่วนลด)

ท่ามกลางต้นทุนที่สูง น้ำดื่มยังเป็นสินค้าที่แทบไม่มีการปรับขึ้นราคาเลยเป็นเวลานานนับ 10 ปี อย่างน้ำดื่มสิงห์ขนาด 600 มล. จำหน่ายราคา 7 บาท และขนาด 1.5 ลิตร จำหน่ายราคา 14 บาท(ราคายังไม่จัดโปรโมชัน)

แบรนด์เจ้าถิ่นแบ่งเค้กยักษ์ใหญ่

สำหรับภาพรวมตลาดน้ำดื่มปี 2566 มีมูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท และเชิงปริมาณอยู่ที่ 3,700 ล้านลิตร เติบโต 9% จากปีก่อนอยู่ที่ 3,400 ล้านลิตร แนวโน้มปี 2567 คาดการณ์ตลาดเติบโต 6.5%

ทั้งนี้ น้ำดื่มสิงห์เป็นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งตลาด 20% ตามด้วยเบอร์ 2 น้ำดื่มคริสตัลส่วนแบ่งตลาด 18.6% และน้ำดื่มเนสท์เล่ 11.4%

การแข่งขันของแบรนด์ใหญ่ยังรุนแรงไม่แผ่ว แต่อีกด้านแบรนด์น้ำดื่มเจ้าถิ่นแต่ละพื้นที่หรือ local brand มีการผุดโรงงานน้ำดื่มบรรจุขวดเพื่อขายในเขตอำเภอ ตำบลกันมากขึ้น ทำให้ครองสัดส่วนตลาดได้ถึง 20% และยังมีเฮ้าส์แบรนด์ของห้างร้านต่างๆแบ่งเค้กไปอีก 13%

สำหรับแบรนด์ท้องถิ่นที่นอกจากเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ยังรวมถึงการเข้าไปเจาะร้านอาหารต่างๆด้วย ซึ่งเดิมร้านอาหารเหล่านั้นอาจมีบริการน้ำดื่มใส่เหยือก กระติก เพื่อให้ผู้บริโภคดื่มฟรีๆ แต่ปัจจุบันมีน้ำบรรจุขวดวางประกบคู่เป็นทางเลือกให้อีกด้วย

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ตั้งเป้าโต 10%

สิงห์ เป็นองค์กรธุรกิจเก่าแก่กว่า 9 ทศวรรษของเมืองไทย ที่อาณาจักรมั่งคั่ง “แสนล้านบาท” จากกลุ่มธุรกิจเบียร์ ปัจจุบันกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นอีกพอร์ตโฟลิโอสำคัญที่บริษัทพยายามเบ่งขยายให้ใหญ่ขึ้น

ปี 2567 กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10% โดยที่เติบโตโดเด่น ได้แก่ น้ำแร่เพอร์ร่า ในอัตรา 2 หลัก สิงห์ เลมอนโซดา น้ำดื่มสิงห์ตั้งเป้าเติบโตกว่าตลาดรวมที่คาดโต 6.5% ส่วนโซดาสิงห์ค่อนข้างทรงตัว จากผลของตลาดสุราสี “ติดลบ” โดยกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปัจจุบันทำรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้านบาทเรียบร้อยแล้ว

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

คำเดียวสั้นๆ "แฟนสาวจาค็อบ" พูดต่อหน้า "รถถัง" หลังชวดแชมป์โลก

เผยคำพูด แฟนสาวของ จาค็อบ สมิธ ที่พูดต่อหน้า รถถัง จิตรเมืองนนท์ หลังฟาดปากกันในศึกมวยไทย รุ่นฟลายเว...

กรมวิชาการเกษตร ระดมแผนเตรียมพร้อม ส่งลำไยเจาะตลาดจีน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไ...

ผลบอล "บาเยิร์น มิวนิก" ไม่พลาด บุกเชือด "ซังต์ เพาลี" รั้งจ่าฝูงบุนเดสลีกา

"เสือใต้" บาเยิร์น มิวนิก ทำได้ตามเป้า บุกมาเอาชนะ ซังต์ เพาลี เก็บ 3 คะแนนสำคัญ รั้งจ่าฝูง บุนเดสลี...

ส่องขุมทรัพย์ที่ดิน 'รถไฟ' 9.6 หมื่นล้าน จ่อประมูลสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศจำนวนมาก และยังเป็น...