ธปท.ชี้ ยอดอายัดบัญชีม้ารอบ1 ปีแล้ว 2 แสนบัญชี พบโอนต่อ5ทอด

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เปิดเผยถึง ปัญหาภัยทุจริจทางการเงินในช่วง 2ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 1มี.ค.2565-31พ.ค. 2567 พบว่า มีภัยทางการเงินสะสมรวม 5.4 แสนคดี โดยสร้างความเสียหายทั้งหมดกว่า 63,000ล้านบาท โดยพบมากที่สุดคือ การหลอกลวงลงทุน 36% หลอกโอนเงิน 28%  ทั้งนี้พบว่าหากเป็นการโอนเงิน กู้เงิน แอปดูดเงินมีรวมกว่า 3 แสนคดี 

ส่วนการเปิดบัญชีม้า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการรับส่งเงิน จากการหลอกลวงทุกประเภท พบว่าในช่วง 1ปีที่ผ่านมา มี.ค.2566-เม.ย.2567 มียอดบัญชีม้าถูกอายัดแล้วเกือบ 2 แสนบัญชี โดยกว่า 30% เป็นบัญชีเปิดใหม่ โดยพบว่าบัญชีม้าส่วนใหญ่ เมื่อรับเงินมาแล้ว มีการโอนต่อไปอีก 5 ทอด 

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน ที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในการดำเนินการสำคัญ

ได้แก่ การออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อจัดการบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับเงินและถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด และแลกเปลี่ยนเส้นทางเงินเพื่อสนับสนุนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ 

อีกทั้ง พรก. ยังได้กำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าให้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การจัดการกับบัญชีม้ายังมีข้อจำกัด ในครั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ธนาคารป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดูแลให้กระทบประชาชนผู้สุจริตน้อยที่สุด 

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ประกอบด้วยมาตรการ 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1: การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ "บัญชี" เป็นระดับ "บุคคล" รวมถึงการจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) การกวาดล้างบัญชีม้าในระบบ ด้วยการจัดการทุกบัญชีในทุกธนาคารของเจ้าของบัญชีต้องสงสัย โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

(2) ระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) และ (3) ข้อมูลบัญชีที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้งก่อนมีเงินโอนเข้า-ออกมูลค่าสูง เพื่อจัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินการกับบัญชีเหล่านั้น ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน

เช่น การระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น

2) การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับเข้มข้น ไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เปิดบัญชีแบบมีเงื่อนไขไม่ให้ใช้บริการผ่านช่องทาง mobile banking ไปจนถึงการปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีทุกช่องทาง ทั้งแบบออนไลน์และที่สาขา

ในการนี้ ธปท. ได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูงหรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงในระบบ CFR มาใช้ข้ามธนาคาร เพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยได้ครอบคลุมและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรฐานเดียวกัน

กลุ่มที่ 2: การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น โดยธปท. กำหนดให้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น ได้แก่ การล็อควงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการปลดล็อควงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น และ/หรือการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567
ทั้งนี้ธปท. มุ่งหวังว่ามาตรการครั้งนี้ จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพและดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลของมาตรการ รวมถึงพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้เท่าทันกับภัยรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืนของประเทศต่อไป
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...