บันได 6 ขั้นก่อนไทยได้เข้าร่วม"กลุ่มบริกส์"

โดยประเทศไทยมีแผนจะเข้าร่วมกลุ่มBRICS และได้ส่งหนังสือแสดงความประสงค์เข้าร่วมความร่วมมือนี้แล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา

กลุ่มBRICS คืออะไร

นอกจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของตัวย่อของชื่อกลุ่มBRICS แล้ว เมื่อปี 2553 ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) จะเข้าร่วมจึงมีตัว S เติมเข้าไป จากนั้นเมื่อต้นปี 2567 อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ได้รับการตอบรับเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีสมาชิกรวม 10 ประเทศและในปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มมากกว่า 40 ประเทศ

วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS คือ

การสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศพัฒนาแล้วโดยเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง ประเทศสมาชิกมีการจัดการประชุมและการทำงานร่วมกันในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันด้านเศรษฐกิจและการเงิน มีการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB)เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาอื่น ๆ และด้านการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก มีการแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลและลดการพึ่งพาจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเน้นการสร้างความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

หากไทยได้รับการตอบรับเข้าร่วมกลุ่มBRICS

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าในเชิงโอกาสทางการค้า การลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในมิติต่าง ๆ นั้นด้านการส่งเสริมการส่งออกประเทศสมาชิก BRICS มีความต้องการสินค้าที่หลากหลายประเภท เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายการส่งออกสินค้า เช่น สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป รถยนต์เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

      ทั้งนี้ ในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 57,211.0 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 20.1% ของการส่งออกทั้งหมด มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.4% ซึ่งสวนทางกับการส่งออกในภาพรวมที่ติดลบ 1.0%  โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย 

     “การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและจำนวนประชากร  ในปี 2565 ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก สัดส่วน 28.3% ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งสิ้น 28.6 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโต 5.6% หรือ มากกว่าอัตราขยายตัวของโลกที่ 3.1% สะท้อนถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก”

นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีจำนวนประชากรรวมมากถึง 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือ สัดส่วน 45.5% สะท้อนถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้ามาก ทำให้ผู้ส่งออกมีโอกาสสูงในการขยายตลาดและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการต่าง ๆ

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 

การร่วมมือกับประเทศ BRICS อาจเปิดโอกาสให้ไทยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและ

เทคโนโลยีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาเครือข่ายคมนาคม การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ธนาคาร NDB ที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่ม BRICS เพื่อให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยในปี 2567 NDB ตั้งเป้าที่จะให้กู้เงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์  โดยคาดว่าจีนและอินเดียจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าประเทศอื่นเล็กน้อย

การสร้างโอกาสทางการลงทุน

นักลงทุนจากประเทศ BRICS อาจเห็นโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในด้านการผลิตการบริการ และการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและสร้างงานให้กับแรงงานภายในประเทศ

      จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงที่สุด ด้วยมูลค่า 159,387 ล้านบาท นอกจากนี้ จีนยังติดอันดับ 1ใน 5 ของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ตามข้อมูลชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจประเทศไทยของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้ามาลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง การบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง การรับจ้างผลิตสินค้า และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)

การสนับสนุนการท่องเที่ยว 

การเป็นสมาชิก BRICS อาจนำไปสู่การลดข้อจำกัดด้านวีซ่า หรือการทำข้อตกลงให้ประชาชนของประเทศสมาชิกเดินทางระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศ เทียบเท่านักท่องเที่ยวชาวจีน โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 1.61 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และขยายตัวจากปีก่อนถึง 245.31%

การเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเป็นสมาชิก BRICS จะเปิดโอกาสให้ไทยเข้าร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกัน การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยน เทคโนโลยีรวมถึงการเสริมสร้างบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ไทยมีโอกาสแสดงจุดยืนและมีบทบาท ในการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วม BRICS ยังมีความท้าทายที่ต้องพิจารณา เช่น การปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานและข้อกำหนดของกลุ่ม การแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ และการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก ดังนั้น การเตรียมตัวและการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไทยในการสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม กลุ่ม BRICS

รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค. 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS

     ที่ประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่15 นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2566 ได้มีมติเห็นชอบเอกสาร “BRICS Membership Expansion Guiding Principles, Standara, riteria and Procedure” ซึ่งกำหนดกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS 6ขั้นตอน ดังนี้

      1.ประเทศที่สนใจจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกยื่นหนังสือแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการต่อประธานกลุ่ม BRICS ในระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยเมื่อยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ฯ แล้ว จะมีสถานะเป็นประเทศที่แสดงความสนใจ 

2.ประธานกลุ่ม BRICS แจ้งให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดทราบ โดยการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศที่สนใจ จะเป็นความลับ

3.BRICS Sherpa (เจ้าหน้าที่อาวุโส)พิจารณาคำขอของประเทศที่แสดงความสนใจตามหลักการและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ที่กำหนด หากผ่านการพิจารณา BRICS Sherpa ก็จะเสนอให้ประเทศดังกล่าวเป็นว่าที่ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS (Prospective BRICS Member State) เพื่อให้รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS พิจารณาต่อไป

4.รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS นำเสนอรายชื่อประเทศที่ผ่านการพิจารณาในระดับรัฐมนตรีให้ผู้นำประเทศสมาชิก BRICS พิจารณา

    5.เมื่อผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS เห็นชอบโดยฉันทามติ ประธานกลุ่ม BRICS จะมีมติเชิญประเทศที่ได้รับความเห็นชอบดังกล่าวเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยจะได้รับสถานะเป็นประเทศที่ได้รับเชิญ

    6.เมื่อประเทศที่ได้รับเชิญมีหนังสือตอบรับคำเชิญในระดับผู้นำรัฐบาลหรือรัฐมนตรีต่างประเทศถึงประธานกลุ่ม BRICS แล้ว จึงจะมีสถานะเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เต็มรูปแบบ (Full Member) อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการของประเทศไทยในการขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยระบุวิสัยทัศน์ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญ ต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...