สธ.เฝ้าระวังไข้หวัดนก H5N1 - โรคแอนแทรกซ์หลังประเทศเพื่อนบ้านป่วยเพิ่ม!

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดนก ในต่างประเทศ ปี 2567 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกจากโคนมในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 3 ราย ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) พบว่าทั้ง 3 รายทำงานในฟาร์มโคนม มีอาการตาแดง และเยื่อบุตาอักเสบ ได้รับยาต้านไวรัส และแยกกักตัวที่บ้าน ในจำนวนนี้หายจากอาการป่วยเรียบร้อยแล้ว 2 ราย รายที่ 3 อยู่ระหว่างแยกกักตัวที่บ้านและอาการดีขึ้นแล้ว

AFP/Angela Weiss
โคนม

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรสหรัฐเปิดเผยว่า พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน "อัลปากา" ซึ่งเป็นอูฐชนิดหนึ่ง ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐไอดาโฮ หลังจากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์มดังกล่าวได้ถูกกำจัดไปแล้วก่อนหน้านี้ ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ยังคงติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด สำหรับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงประเทศไทย มีรายงานพบโรคไข้หวัดนกในคน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา 5 ราย เสียชีวิต  1 ราย และประเทศเวียดนาม 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก นับตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายสุดท้ายในประเทศไทยใน ปี 2549

มาตรการร่วมกับเครือข่ายในการเฝ้าระวัง 

  • ติดตาม ละประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์โรคทั้งในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง

  • เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ ในการดำเนินการสอบสวน และควบคุมโรคร่วมกับกรมปศุสัตว์และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในพื้นที่

  • แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เฝ้าระวังผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีช่องทางเข้าออกติดต่อกับพื้นที่ที่พบการระบาด 

  • สื่อสารความเสี่ยง และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกในพื้นที่

สำหรับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์และสัตว์ป่า กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานฯ ได้มีการสุ่มตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและนกป่าอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น ประกาศชะลอการนำเข้าสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มาจากประเทศที่พบการระบาดไข้หวัดนก ให้ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศบูรณาการร่วมกับด่านศุลกากร สุ่มตรวจการนำเข้าสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ออกประกาศแจ้งเตือนปศุสัตว์ทั่วประเทศให้เฝ้าระวังการเกิดโรคในพื้นที่ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกและแอนแทรกซ์ ประชาสัมพันธ์แนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ให้มีการจัดระบบป้องกันโรคก่อนเข้าฟาร์ม และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในบริเวณเดียวกัน

สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยแอนแทรกซ์อย่างต่อเนื่อง ช่วงปี 2535 - 2543 โดยพบการระบาดในคนและสัตว์ครั้งสุดท้ายที่จังหวัดพิจิตร ในปี 2543 จังหวัดที่มีการรายงานโรค  เป็นประจำ ได้แก่ เชียงราย ตาก พิษณุโลก สุรินทร์ อุดรธานี พะเยา และพิจิตร จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ป่วยประปราย ได้แก่ นครพนม เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง กรุงเทพมหานคร แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และนนทบุรี โดยปี 2560 พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 2 ราย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากการนำซากแพะที่ตายจากประเทศเมียนมามาชำแหละด้วยมือเปล่า 

ในปี 2567 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานพบผู้ป่วยใน 2 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ที่แขวงจำปาสัก มีผู้ป่วยรวม 65 ราย และประเทศอินโดนีเซีย ที่เมืองยอร์คจาการ์ตาร์ มีผู้ป่วยรวม 17 ราย ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์โดยเฉพาะช่องทางเข้าออกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับนิยามโรคแอนแทรกซ์ ให้ดำเนินการสอบสวนโรคทันที ห้ามเคลื่อนย้าย ผ่าซาก ชำแหละเนื้อหรือหนังสัตว์ที่ตาย ห้ามชำแหละขายหรือรับประทาน และต้องรับประทานเนื้อปรุงสุกเท่านั้น รวมถึงการปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ กินอาหารปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยตาย เป็นต้น จะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกและโรคแอนแทรกซ์ได้

จากที่มีรายงานข่าวการแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากโคนมมาสู่คนที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น กรมควบคุมโรค และ กรมปศุสัตว์ ขอแนะนำเกษตรผู้เลี้ยงโคนม หากพบสัตว์ปีก หรือนกอพยพป่วยตายผิดปกติอยู่ในฟาร์ม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้มาตรวจสอบทันที หรือโทร 063-225-6888 และหากมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือมีตาแดงอักเสบหลังสัมผัสกับสัตว์ ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...