‘เสริมศักดิ์’ ถกแผนท่องเที่ยว 14 มิ.ย. ปั้นรายได้ครึ่งปีหลังเพิ่ม 5 แสนล้านบาท

ถือเป็นช่วงสำคัญอย่างมาก ต้องเร่งปั๊มรายได้จากทั้งตลาดใน และต่างประเทศให้ได้อีก “5 แสนล้านบาท” เพื่อสร้างรายได้รวมไปให้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ !

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนแผนงานภายใต้งบประมาณปี 2567 และแผนงานใหม่ที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม แต่ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณปี 2567 ว่ามีจำนวนกี่โครงการ

“ทั้งหมดต้องรอข้อสรุปการประชุมในวันที่ 14 มิ.ย.67นี้ ว่าต้องใช้งบประมาณกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งหมดเท่าไร ถ้าต้องใช้งบกลางในการขับเคลื่อน ก็ต้องเร่งนำเสนอต่อนายกฯ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย. เพื่อให้ครึ่งปีหลังสามารถผลักดันแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เลย”

มอบการบ้าน ททท. ครีเอตโครงการ ชนิดเห็นแล้ว WOW

ขณะเดียวกัน ททท. ก็ต้องไปคิดหาโครงการที่เห็นแล้ว “ร้องว้าว” มาให้รัฐบาลพิจารณาด้วย หลังจากภาคเอกชนเสนอมาว่า อยากให้รัฐบาลจัดทำโครงการในลักษณะรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว คล้ายกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เคยประสบความสำเร็จในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งอาจจะมีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น

“ก่อนหน้านี้ นายกฯ บอกว่าจะใส่ทั้งงบประมาณ และใส่ใจด้วย จึงมั่นใจว่าเมื่อนายกฯ ลงมาดูแลแก้ไขปัญหาภาคการท่องเที่ยวแล้ว จะสามารถขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยได้เป็นอย่างดี แม้ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะมีโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งใช้วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท แต่ยืนยันว่ามีงบประมาณเหลือเพียงพอสำหรับกระตุ้นการท่องเที่ยว”

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

'เสริมศักดิ์' ขอวัดฝีมือ ปั้นรายได้รวมท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท

ส่วนเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือที่เรียกกันอีกชื่อ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับการจัดเก็บ แต่จำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดเพิ่มเติมว่าได้ผลคุ้มค่าไหม จะมีจุดถูกโจมตีหรือไม่ เบื้องต้นคาดน่าจะได้ข้อสรุปว่าจะจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินหรือไม่จัดเก็บภายในปี 2567

“หลังจากผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ครบ 1 เดือนแรก ถ้าจะต้องประเมินให้คะแนนตัวเอง ผมยังตอบไม่ถูก แต่ด้วยเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท ของนายกฯ เศรษฐา ก็ต้องวัดฝีมือกันสักหน่อยว่าจะทำได้แค่ไหน แน่นอนว่าผมก็ต้องทุ่มเททำสุดชีวิต ไม่ใช่ว่านั่งเฉยๆ แล้วยอดนักท่องเที่ยวกับรายได้จะโตได้ตามเป้า” เสริมศักดิ์ กล่าว

 

ส่องงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปี 67-68

รายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 อยู่ใน “ลำดับที่ 18” จาก 20 กระทรวง

เฉพาะงบประมาณปี 2567 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 12,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.45% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 แต่ยังน้อยกว่าปีงบประมาณ 2561-2564 โดยในปีงบประมาณ 2561 ได้รับการจัดสรร 17,092 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2562 ได้รับ 16,110 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ได้รับ 15,037 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ได้รับ 13,651 ล้านบาท เฉพาะงบประมาณของ ททท. ในปีงบประมาณ 2567 ได้รับการจัดสรร 5,166 ล้านบาท

ขณะที่ (ร่าง) งบประมาณปี 2568 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 15,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.66% เฉพาะงบประมาณของ ททท. ได้รับการจัดสรร 6,236 ล้านบาท ใกล้เคียงกับระดับงบประมาณปี 2562-2563

 

ททท. ชู 3 แกนหลัก กระตุ้นในประเทศ-ต่างประเทศ-อีเวนต์ใหญ่

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริมว่า สำหรับการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้เพื่อทำรายได้รวมเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายการทำงานของ ททท.ซึ่งตั้งไว้ 3 ล้านล้านบาท หวังไปให้ถึงเป้าหมายของรัฐบาล 3.5 ล้านล้านบาทนั้น เนื่องจากผ่านไป 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.- พ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสะสมแล้วเกือบ 15 ล้านคน สร้างรายได้ตลาดต่างประเทศราว 8.4 แสนล้านบาท ยังเหลืออีก 1.46 ล้านล้านบาท ที่ต้องทำเพิ่ม เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งวางเป้ารายได้ตลาดต่างประเทศไว้ที่ 2.3 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ตลาดในประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท ก็ต้องบริหารความเสี่ยงควบคู่ด้วย

ทั้งนี้ ททท.ได้วางนโยบาย “3 แกนหลัก” เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย แกนที่ 1 “ตลาดในประเทศ” ทาง รมว.การท่องเที่ยวฯ ให้นโยบายมาว่าด้วยตอนนี้เป็นช่วงโลว์ซีซัน จำเป็นต้องทำสิ่งที่นอกเหนือจากแผนงบประมาณเดิมที่ได้มาด้วย

เช่นเดียวกับแกนที่ 2 “ตลาดต่างประเทศ” ททท.จะเร่งส่งเสริมตลาดดาวฤกษ์ (มีฐานนักท่องเที่ยวสูงมาก) และตลาดดาวรุ่ง (มีอัตราการเติบโตสูง) โดยสำนักงานของ ททท.ทั้งตลาดระยะใกล้ และระยะไกล อยู่ระหว่างรวบรวมแผนส่งให้ รมว.การท่องเที่ยวฯ พิจารณา ว่าต้องการ การสนับสนุนใดเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไทยมากขึ้น

และแกนที่ 3 “อีเวนต์ใหญ่” งานไฮไลต์ เช่น มิชลินฟู้ด เฟสติวัล (Michelin Food Festival) ซึ่งเตรียมจัดเป็นครั้งแรกในไทย และเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียต่อจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ยังมีเฟสติวัล และคอนเสิร์ตต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เทศกาลดนตรี ซัมเมอร์ โซนิก (Summer Sonic Bangkok 2024) ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค.67 ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี และเทศกาลดนตรี โรลลิ่ง ลาวด์ (Rolling Loud Thailand 2024) ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย. ณ เลเจนด์ สยาม พัทยา รวมไปถึงเทศกาล หนีห่าว มันธ์ (Nihao Month) ในเดือนต.ค. ร่วมเฉลิมฉลองช่วงหยุดยาววันชาติจีน 1 ต.ค.

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท.

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...