SMEs จะไปต่ออย่างไร เมื่อเศรษฐกิจไทยโตช้าลง?

นับตั้งแต่ทั่วโลกฝ่าฟันวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ไปได้ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยก็ดูเหมือนจะเติบโตช้าลง สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตในระดับ 3-4% เหล่านี้มีส่วนทำให้โมเมนตัมที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยแผ่วลงตามไปด้วย ทั้งนี้ แม้โครงสร้างธุรกิจไทยไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย SMEs ยังคงเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจ ซึ่งมีมากถึง 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานครอบคลุม 12.8 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้ของ SMEs รวมกันยังไม่ถึง 20% ของรายได้ของธุรกิจทั้งประเทศ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงบริษัทข้ามชาติกลับครองความมั่งคั่งกว่า 80% ของทั้งประเทศ 

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ของ SMEs ไทยในปี 2567 ยังคงน่าเป็นห่วง จากกำลังซื้อประชาชนที่ชะลอตัวลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าและปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังชัดเจนและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญข้อจำกัดหลายด้านที่ยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ไม่ว่าจะเป็น

ประการแรก : SMEs เปราะบางสะสมมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของธุรกิจอย่างรวดเร็ว อุปสรรคจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ของธุรกิจขนาดเล็ก อีกทั้งปรากฏการณ์ “กินรวบ” หรือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ของผู้เล่นหลักในตลาดเพียงไม่กี่ราย ขณะเดียวกันยังมีแรงกระเพื่อมจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลคุณภาพสินเชื่อ SMEs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสะท้อนให้เห็นปัญหาในหลายอุตสาหกรรม โดยคุณภาพสินเชื่อของ SMEs ย่ำแย่ลงตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยสัดส่วนหนี้เสียของ SMEs หรือ NPL Ratio สูงถึง 4-5% ของสินเชื่อ SMEs เมื่อเทียบกับ NPL Ratio ของธุรกิจขนาดใหญ่ 1-2% ขณะที่หนี้เสียของ SMEs ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมการผลิตและค้าปลีกค้าส่งมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันสูงถึง 1.47 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 60.3% ของหนี้เสีย SMEs ทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์ 

ประการที่สอง : SMEs เสียเปรียบตั้งแต่ก้าวแรกของการทำธุรกิจ เนื่องจากภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ SMEs ยังขาดการวางแผนรูปแบบธุรกิจอย่างรอบคอบและรัดกุม รวมถึงขาดการจัดทำรายงานงบการเงินที่เป็นระบบและน่าเชื่อถือ ทำให้ 80% ของผู้ประกอบการ SMEs ที่เกิดใหม่ (Early Stage) ต้องปิดกิจการไปตั้งแต่ 3 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินของ SMEs ค่อนข้างสูงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ SMEs ไทยยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จากสัดส่วนยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ SMEs เมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบของไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน อีกทั้งยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs ทั้งหมด (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 อยู่ที่ราว 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 23.1% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งระบบ จากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 41.2% ในปี 2558 ส่งผลให้ 1 ใน 3 ของแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มักพึ่งพาแหล่งเงินทุนส่วนตัว การระดมทุนจากหุ้นส่วน รวมไปถึงสินเชื่อนอกระบบ 

ประการที่สาม : สายป่านของ SMEs ในการทำธุรกิจสั้น โดย SMEs ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ที่มีข้อจำกัดเป็นทุนเดิม ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ เงินทุนเพื่อหมุนเวียนเมื่อเทียบยอดขายของ SMEs ขนาดเล็ก (รายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี) เมื่อเทียบกับ SMEs ขนาดกลางขึ้นไป (รายได้มากกว่า 30 ล้านบาทต่อปี) สูงกว่าเกือบ 2 เท่า ส่งผลให้ SMEs ขนาดเล็กมีกำไรจากการดำเนินงานค่อนข้างน้อย ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจต่ำ สะท้อนจากข้อมูลงบการเงินของ SMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กมีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจ (EBIT) เพียง 0.15% ของรายได้ ขณะที่กลุ่ม SMEs ขนาดกลางขึ้นไปมีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจ (EBIT) 3.1% ของรายได้ นอกจากนี้ ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กยังมีการเติบโตของรายได้ที่ค่อนข้างต่ำด้วยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ 2.8% เมื่อเทียบกับกลุ่ม SMEs ขนาดกลางขึ้นไปที่เติบโต 3.7% บนฐานของรายได้สุทธิที่สูงกว่า

โดยสรุปแล้ว ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะเติบโตช้าลง ขณะที่ความเปราะบางของธุรกิจ SMEs ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ฉะนั้นแล้ว การเผชิญอยู่บนความไม่แน่นอนของกระแสธุรกิจที่มีมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายที่ SMEs ต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจนกับสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงลึกมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมและสามารถยืดหยุ่นได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของกิจการให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีส่วนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กอย่างรอบด้าน ทั้งในรูปแบบของการเอื้อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนในการลงทุนต่ำ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระยะยาวในเชิงวิจัยและพัฒนามากขึ้น ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ SMEs สามารถฝ่ากระแสธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่งได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...