เปิด 5 ผลกระทบ ‘เศรษฐกิจไทย’ ในวันที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลางรุนแรง

“ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้ง "เศรษฐกิจโลก" และ"เศรษฐกิจไทย" โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ประกอบกับความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งเมื่อรวมกับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่หากยืดเยื้อรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม รวมทั้งจะเกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกและระดับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะกระทบมายังเศรษฐกิจไทยได้

ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลงจากเดิม 2.7% เหลือประมาณ 2.5%

ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่กลับมาปะทุอีกครั้งหลังจากการโจมตีกันระหว่างอิสราเอล และฮามาส ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 มาถึงการตอบโต้ทางการทหารกันระหว่างอิสราเอล และอิหร่านจนเกิดความกังวลว่าสถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ระดับภูมิภาคได้ โดยปัจจุบันนี้สถานการณ์ลดความตรึงเครียดลงไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สิ้นสุดลง หลายฝ่ายยังคงจับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลางว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากเพียงใด

สำหรับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่กระทบกับเศรษฐกิจของไทยนั้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม สศช.ได้คาดการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางต่อเศรษฐกิจไทยไว้ 5 ด้าน ดังนี้

1.ผลกระทบโดยตรงผ่านการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการลงทุนโดยตรง โดยประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรง (อิสราเอลและอิหร่าน) ในสัดส่วนที่ต่ำ โดยผลกระทบในช่องทางดังกล่าวจึงมีอย่างจำกัด

2.ผลกระทบที่จะเกิดกับราคาพลังงาน ภูมิภาคตะวันออกกลางมีความสำคัญในแง่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสำคัญของน้ำมันดิบส่งผลให้สถานการณ์ในภูมิภาคจะมีผลต่อระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมี่การนำเข้าน้ำมันดิบจากภูมิภาคดังกล่าวมากกว่า 50% จึงเป็นช่องทางการส่งผ่านผลกระทบหลักที่มีต่อประเทศไทย หากมีการสู้รบขยายวงกว้างจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้ 

โดยปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายประเทศมีสัดส่วนตามการนำเข้าจาก 10 ประเทศหลัก ดังนี้ 

  1. สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) 36.5% 
  2. ซาอุดิอาระเบีย 15% 
  3. มาเลเซีย 8.2% 
  4. สหรัฐฯ 7.4% 
  5. อินโดนิเซีย 4.7% 
  6. ลิเบีย 3.9% 
  7. แองโกลา 3.5% 
  8. ญี่ปุ่น 3.5% 
  9. ไนจีเรีย 3% 
  10. ยุโรป 2.5% 

 

3.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ผลกระทบดังกล่าวยังเป็นไปอย่างจำกัด โดยราคาวัตถุดิบทางการเกษตรและสินแร่สำคัญ ๆ มีการปรับขึ้นภายหลังจากเดือนตุลาคม 2566แต่เป็นการปรับขึ้นในระดับที่น้อยกว่าช่วงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มขึ้น เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ได้เป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ  

4.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) มากขึ้น อาทิ ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ อ่อนค่าลง ขณะที่ตลาดทุนมีความผันผวนในระยะสั้นภายหลังจากที่เหตุการ์ณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น

และ 5.การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ผลกระทบหลักมาจากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูตีในเยเมน ส่งผลให้การขนส่งผ่านทะเลแดงและคลองสุเอชปรับตัวลดลงจนส่งผลต่อต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ และกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าและส่งออกของไทยได้ เนื่องจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...