เทคโนโลยี นวัตกรรม สู้โลกเดือด กุญแจสำคัญ สู่ Net Zero

ภาวะโลกเดือด ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่มนุษย์ แต่กระทบระบบนิเวศ สัตว์ทะเล เกิดปะการังฟอกขาวในหลายพื้นที่ทั่วโลก และในไทย กระทบต่อการท่องเที่ยว เป็นโจทย์ใหญ่ที่ว่า ภาวะโลกเดือด ที่เกิดขึ้นไทยจะรับมืออย่างไร ขณะเดียวกัน เทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นตัวช่วยสำคัญในการเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ 

 

โดยสปริงนิวส์ ได้จัดงาน Innovation Keeping the World 2024 นวัตกรรม ยั่งยืน สู้ภาวะโลกเดือดขึ้นที่ SCBX NEXT STAGE @ NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน โดยมี นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ให้การต้อนรับ ตัวแทนทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมนำเสนอ แนวทางเพื่อสร้างจิตสำนึกช่วยโลกร่วมกันวานนี้ (29พ.ค.67)

 

สมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องรุนแรง เกี่ยวข้องทั้งเศรษฐกิจ ผลผลิตลดลงทั้งการเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม กระทบทุกภาคส่วน รวมถึงกำแพงภาษีในการส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐ ดังนั้น เป็นเป้าหมายที่เราต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ สื่ออย่างเครือเนชั่นที่ทำเรื่องนี้มาตลอดระยะเวลา 4 ปี จะนำบทเรียนจากองค์กรต่างๆ แนวนโยบายจากภาครัฐถ่ายทอดไปสู่คนทุกเจนฯ เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันสามารถช่วยโลกได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • โลกร้อนทำพิษ แม่น้ำ ‘อะแลสกา’ เปลี่ยนเป็นสีส้ม มีกรดสูง อันตรายต่อคน - สัตว์
  • เปิดวิธี 'ประหยัดพลังงาน' แบบง่ายๆ ที่ทำได้ทุกวัน
  • ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

 

วิกฤติทะเลเดือด

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึง วิกฤติทะเลเดือด ว่า ทุกวันนี้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิดน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปะการังฟอกขาว มนุษย์ และสัตว์ปรับตัวยาก หญ้าทะเลที่เกาะลิบง เกาะมุก ตายไปกว่าหมื่นไร่ พื้นที่ดังกล่าวมีพะยูนอาศัยอยู่กว่า 220 ตัว จากทั้งหมด 280 ตัว เมื่อไม่มีอาหารทำให้พะยูนอพยพไปอยู่ที่ใหม่ และพบว่า พะยูน ตายไป 4 ตัวภายในสัปดาห์เดียว

 

ในช่วง 20-30 ปี ยิ่งจะรุนแรงขึ้น ภาครัฐ และเอกชน ต้องแก้ปัญหาอย่างมีระบบ คิดล่วงหน้า และมีแผนงาน ที่ผ่านมา กรมฯ มีแผนงานในการแก้ปัญหาปะการังฟอกขาว โดยการสร้างเครือข่าย ระบบการติดตามอุณหภูมิน้ำ ทำการพยากรณ์ และให้เครือข่ายคอยรายงาน และช่วยฟื้นฟู ต้องเตรียมการ มีนวัตกรรม และความร่วมมือ ช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันทีละนิดแล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลดการทิ้งขยะ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการปล่อยน้ำเสีย ช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ขับเคลื่อนทุกภาคส่วน

ปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง เป้าหมายไทย สู้ภาวะโลกเดือด ว่า Climate Change ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงบ่อยครั้ง อาจนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 12.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2050 ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงเป็นอันดับ 23 ในปี 2023 คือ 26.8 องศา และเป็นอันดับที่ 13 ประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดไม่ว่าจะเอลนีโญ ภัยแล้งยาวนาน และฝนลดลง

 

ทางกรมฯ มีการทำงานร่วมกับหน่วยงาน และกระทรวงต่างๆ ในการขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ เร่งจัดทำ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณา ขณะเดียวกัน การเงินการลงทุนก็สำคัญ เพราะการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานต้องใช้นวัตกรรม ใช้พลังงานทางเลือก การดูดจับคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทุกองคาพยพของประเทศ มีการปรับเปลี่ยนไม่ว่าจะแผนการทำเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม เพิ่มพื้นที่ป่า การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ กลไกการตลาดด้านคาร์บอน การพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก บริหารจัดการภายในประเทศ และสุดท้ายการสร้างความเข้าใจประชาชน เพื่อการพัฒนาอยางยั่งยืน และสังคมคาร์บอนต่ำ

 

 

ขับเคลื่อน Climate Tech

ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวในหัวข้อ ขับเคลื่อน Climate Tech สู่เป้าหมาย Net Zero โดยระบุว่า การมุ่งสู่ Net Zero ต้องใช้เทคโนโลยี เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้า รถอีวี และในอนาคตอาจไปถึง Green Hydrogen และ การดูดจับคาร์บอนใต้พื้นดิน เช่น CCS (Carbon Capture and Storage)

 

การปรับตัว แน่นอนว่า ต้องตรวจวัดได้ จัดทำรายงาน ทวนสอบ สำหรับองค์กรสิ่งที่ต้องเตรียมการในอนาคต คือ การจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร คำนวณการปล่อย ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย อบก. เป็นหน่วยรับรองทั้งคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ มีหน่วยงานต่างๆ กว่า 600 กว่าโครงการเข้าร่วมคาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถดูรายละเอียด และรายชื่อหน่วยงานต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ของ อบก.

 

 

วฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบ่งเทคโนโลยีออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เทคโนโลยีที่ใช้งานได้ เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ระยะ 2 เทคโนโลยีที่ทำได้ แต่ราคายังสูง คือ ไฮโดรเจน Carbon Capture และนิวเคลียร์ เป็นพลังงานที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอน และระยะ 3 เป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่สำเร็จ เช่น ดวงอาทิตย์เทียม

 

ในส่วนของ กฟผ. มีการค้นหา และทำนวัตกรรมที่กล่าวมา ทั้งดำเนินการเอง และมีบริษัทร่วม ขณะที่ด้านต้นทุน การที่จะไปสู่พลังงานสะอาด ระยะ 1-2 เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และใช้งานได้เลย ไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ขณะที่ ระยะ 3 ต้องพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ ให้ต้นทุนลดลง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในระบบแพร่หลาย และยังไม่สามารถทำในสเกลใหญ่ได้ ฉะนั้น การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ดูในมิติการลดคาร์บอนอย่างเดียว ต้องดูในมิติราคาที่ยอมรับได้ รักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้

 

 

ด้าน ศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการ กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินงานด้าน Climate Change ไม่ได้ดูเฉพาะเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้อย่างเดียว แต่ดึงภาคเอกชน ภาคประชาชน ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมภาครัฐ สุดท้าย การนำเทคโนโลยีมาต้องดูว่าเหมาะสมกับประเทศเราหรือไม่ ไม่เกิดผลกระทบต่อภาคเอกชน และภาคประชาชน เช่น Blue Hydrogen มีความเป็นไปได้ และมีการลงทุน แต่หากมุ่งไปสู่ Green Hydrogen ต้นทุนยังสูงอยู่ จึงต้องค่อยๆ ขยับขึ้นไปเพื่อกระทบต่อเอกชน และประชาชนน้อยที่สุด

 

ที่ผ่านมา มีการจัดทำร่างแผนการลดก๊าซเรือนกระจก 2030 ในการลดก๊าซเรือนกระจก 5 กลุ่ม ได้แก่ พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย และเกษตร กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะมีแผนที่ภาครัฐกำหนดไว้ ต้องขับเคลื่อนแผนภายใน 10 ปี โดยโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น ไฮโดรลิก ซีเมนต์ ลดการใส่สารทดแทนที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปูนซีเมนต์ เริ่มมีการใช้การก่อสร้างภาครัฐ เอกชน คุณสมบัติไม่ต่างจากปูนทั่วไป หรือ การปลูกข้าวเทคโนโลยีเปียกสลับแห้ง ใช้น้ำน้อย ขยายพื้นที่ในการปลูกมากขึ้น เป็นต้น

 

“อย่างไรก็ตาม การลดก๊าซเรือนกระจก การกำหนดเป้าหมายต่างๆ ควรทำควบคู่ไปกับการทำผังเมือง พื้นที่น้ำท่วม ต้องดูแลควบคู่กันไปเพื่อป้องกันปัญหาการปรับตัว ป้องกันการเสียหายทางเศรษฐกิจ ต้องเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อน”

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

อเมริกันดราม่า! กองเชียร์จี้ไบเดนลาออก เปิดทาง ‘ประธานาธิบดีแฮร์ริส’ สู่ทำเนียบขาว

เว็บไซต์ Times Now รายงานว่า แม้แฮร์ริสจะยอมรับความพ่ายแพ้ไปแล้วและขอให้ผู้สนับสนุน “สู้ต่อไป” แต่บร...

อีลอน มัสก์ หนุนทรัมป์แทรกแซง 'เฟด' ชูประเด็น #EndtheFed ให้ปธน.คุมแบงก์ชาติ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ และเป็นเจ้าของแ...

การกลับมาของวัฒนธรรม Gothic ทางเลือกของ Gen Z ท่ามกลางป๊อปคัลเจอร์

วัฒนธรรมกอธิค หรือโกธิคที่มีรากฐานมาจาก Dark Romantic ความเข้มข้นทางอารมณ์ และการแสดงออกถึงตัวตนที่แ...

คาด 'วันคนโสดจีน' 11.11 ปีนี้ ยอดขายดีขึ้น แต่แบรนด์เนมหรูยังฟื้นยาก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เทศกาลวันคนโสด 11.11 ซึ่งเป็นเทศกาลชอปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของจีน แล...