‘คลัง’ ทบทวนภาษีที่ดิน ครบ 5 ปี คาดปี 67 จัดเก็บได้ 4.3 หมื่นล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสวนาในหัวข้อ "ครบ 5 ปี ภาษีที่ดินฯ : อนาคตอสังหาฯ และเศรษฐกิจไทย" ในงาน “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ว่า การจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ยอมรับว่าเป็นต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และประชาชน ซึ่งในปี 2567 นี้จะถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายครบ 5 ปี กระทรวงการคลังจึงได้เริ่มกระบวนการทบทวน และปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวว่าตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่ 

ทั้งนี้ ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นแล้วระหว่างวันที่ 1 เม.ย.- 15 พ.ค.2567 โดยมีผู้ให้ข้อคิดเห็น 500 กว่าราย หลังจากนี้จะนำมาประมวลข้อเสนอ และความเห็น มาทำแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ คาดปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ 

“เชื่อว่าภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีที่ดี ทั้งนี้ควรมีปรับในบางเรื่อง หลังจากที่มีการบังคับใช้จริงแล้วเจออุปสรรคปัญหาจึงอยากให้ทุก 5 ปีมาคุย ให้คำแนะนำ และพร้อมนำไปปรับแก้ไขให้ดีขึ้น”

ทั้งนี้ ก่อนมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2562 เป็นการจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเชื่อว่า 2 ภาษีนี้เป็นภาษีที่ดี และเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาเยอะ เนื่องจากเป็นการจัดเก็บภาษีในอัตราถดถอย และมีการใช้ดุลยพินิจสูงจึงขาดประสิทธิภาพ จึงปรับปรุงให้เป็นภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง

“ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่มีปัญหามาก จึงเลือกออกกฎหมายใหม่ ลดการใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ เพราะเก็บแบบเดิมผลที่ตามมาคือ เก็บภาษีไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงที่ดินสะสมความมั่งคั่ง เพราะเศรษฐีไม่ขาย เก็บไว้ให้ลูกหลาน โดยการมีภาษีที่ดินฯ จะทำให้เกิดการทำประโยชน์มากขึ้น”

นายลวรณ กล่าวต่อว่า ภาษีที่ดินฯ ไม่ได้เป็นรายได้ของรัฐบาล แต่เป็นของท้องถิ่นทั้งหมด เป็นเงินที่สามารถใช้ได้เองตามความต้องการของท้องถิ่น เช่น ทำถนน สิ่งแวดล้อม เป็นเงินอิสระท้องถิ่นเก็บเองก็ใช้เอง เปรียบเสมือนค่าส่วนกลาง และท้องถิ่นนำไปใช้ประโยชน์ นำรายได้ไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สำหรับผลของการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เดิมคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ 40,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 2563 เจอสถานการณ์โควิดจึงปรับลดการจัดเก็บ 90% โดยเก็บภาษีจริง 10% จนถึงปี 2564 

ขณะที่ปี 2565 เก็บภาษีในอัตรา 100% จัดเก็บได้ 35,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการเก็บภาษีโรงเรือน 36,000 ล้านบาท และในปี 66 กลับมาลดอัตราการจัดเก็บ 15% เป็นมาตรการเยียวยา หลังจากมีการปรับราคาประเมินที่ดินเพิ่ม ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าจะเก็บภาษีได้ 43,000 ล้านบาท

“เชื่อว่าโอกาสท้องถิ่นเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ทำได้อีกเยอะ แม้อุปสรรคยังมี การเปลี่ยนมือที่ดินฯ ข้อมูลยังไม่มีการเป็นล่าสุด เพราะเจ้าของเปลี่ยนมือแต่ข้อมูลไม่เปลี่ยน ทางท้องถิ่นต้องมีเครื่องมือความทันสมัย ในการจัดเก็บที่ดิน ซึ่งราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม ท้องถิ่นต้องขยัน ออกแรง ในเขตความรับผิดชอบและทำประโยชน์”

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...