พิษศก.ทุบกำลังซื้อ 'ไร้สัญญาณฟื้น’ สินค้าจำเป็นขายไม่ดี ร้านค้าภูธรปิดตัว

สินค้าอุปโภคบริโภคหืดจับ สภาพคล่องลด ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง สินค้าจ่อขึ้นราคา ร้านค้าภูธร ปิดกิจการ เหตุไร้เม็ดเงินหมุนเวียน “ล็อกซเล่ย์” เผยแนวโน้มครึ่งปีหลังตลาดยังไร้สัญญาณฟื้นตัว คู่ค้าขอยืดหยุ่นการค้าขาย ด้านดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ “มาม่า-ปลากระป๋อง” สินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ โตต่ำ จนถึง ทรงตัว

นายอวยชัย รางชัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเทรดดิ้ง บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่ผ่านมาถือว่าไม่ดีมากนัก โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคต่างจังหวัดเข้าขั้นไม่ดีเลย สังเกตจากร้านค้าทั่วไปมีการปิดตัวค่อนข้างมาก ที่น่าสนใจคือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย ซึ่งดำเนินธุรกิจมายาวนาน 30 ปี

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการค้าขายสินค้าจำเป็น ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าต่างๆ จะได้รับอานิสงส์จาก ที่ช่วยเพิ่มยอดขายร้านค้า รวมถึงเป็นการผันเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก แต่ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ช่วงอิ่มตัว ขณะเดียวกันช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก

“กำลังซื้อไม่ดีเลย โดยเฉพาะต่างจังหวัด มีร้านค้ารายใหญ่ต้องปิดกิจการ เพราะสิ่งที่เผชิญช่วง 3 ปีก่อนหน้า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโต ร้านค้านำเงินมาซื้อสินค้าไปขายอย่างมาก แต่ถึงจุดหนึ่ง ตลาดเริ่มซึม เพราะไม่มีมาตรการที่จับต้องได้จริงมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกือบ 1 ปี ร้านค้าขายค่อนข้างลำบาก”

สภาพคล่องลด ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง สินค้าจ่อขึ้นราคา

เมื่อการค้าขายไม่ดี ทำให้ร้านค้ามีสภาพคล่องน้อยลง แต่สำคัญสุดคือภาคประชาชน ซึ่งเผชิญสถานการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง เนื่องจากกำลังซื้อลดลงมาก ส่วนรายได้ที่มีกลับน้อยกว่าภาระค่าใช้จ่ายประจำในชีวิต ซ้ำร้าย ค่าใช้จ่ายบางรายการปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ราคาสินค้า ที่ปัจจุบันราว 80% มีการปรับขึ้นราคาไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ แนวโน้มราคาสินค้าจำเป็นยังส่งสัญญาณการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม หลังจากที่ผ่านมาเผชิญต้นทุนวัตถุดิบน้ำนมดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นมพร้อมดื่มต่างๆทั้งยูเอชที นมพาสเจอร์ไรส์ ขยับขึ้นราคาไปประมาณ 10-12% ทำให้ยอดขายแบรนด์ใหญ่ต้องอยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้ผลิตภัณฑ์นมจะมีการขึ้นราคาสินค้าอีกครั้งด้วย

แนวโน้มครึ่งปีหลังอ่วมหนัก

สำหรับทิศทางตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค ยังไม่เห็นภาพการปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะตลาดเข้าสู่ฤดูฝน และตัวแปรช่วงเปิดเทอม มีผลต่อการใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครอง

นอกจากนี้ ยังมองภาพรวมทั้งปี 2567 ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ดีเท่าปี 2566 ด้วย เพราะปัจจุบันสินค้าหลายอย่างยังหดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ผ้าอ้อมพรีเมียม แม้กระทั่งตลาดปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งที่เป็นสินค้าจำเป็นในการบริโภคหรือกิน

“ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคซบเซา หากไปสำรวจร้านค้าหรือยี่ปั๊วในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ถามการค้าขายของเจ้าของร้านจะเห็นบรรยากาศและได้รับข้อมูล”

อย่างไรก็ตาม การอยู่รอดในปีนี้ ผู้ประกอบการต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น บริษัทเคยจำหน่ายและกระจายสินค้าให้ร้านค้า การเก็บเงินต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากร้านเองก็พยายามสั่งสินค้าจากบริษัทเท่าเดิม ส่วนผู้บริโภคที่กำลังซื้อลดลง ต้องมีการจัดโปรโมชั่น แต่ช่วยได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะถือเป็นกลยุทธ์ระยะสั้นที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ณ จุดขาย เปลี่ยนจากยี่ห้ออื่น มาเป็นของบริษัท เพราะภาพใหญ่ตลาดหดตัว

“สินค้าจำเป็นต่อชีวิต 3 อย่างที่ประชาชนไม่ฟุ่มเฟือย คือ ข้าวสาร น้ำมัน และน้ำตาล ตอนนี้ดีมานด์ตลาดสำคัญ แต่ผู้บริโภคต้องมีเงินในกระเป๋าด้วย มีดีมานด์อย่างเดียวไม่ได้ แม้ภาพใหญ่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคซบเซา แต่กลุ่มเทรดดิ้งของล็อกซเล่ย์ยังสร้างยอดขายเติบโตอัตรา 1 หลัก และสูงกว่าตลาด”

ปลากระป๋องไตรมาสแรกทรงตัว

นางปวิตา โตทับเที่ยง รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล หรือปุ้มปุ้ย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดปลากระป๋องมีมูลค่าราว 7,000-9,000 ล้านบาท โดยปี 2566 ตลาดอยู่ในภาวะติดลบ ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2567 ค่อนข้างทรงตัว ส่วนปลากระป๋องราคาเพียงไม่กี่สิบบาท จนผู้บริโภคไม่มีเงินซื้อ ทำให้ตลาดหดตัว ไม่สามารถประเมินเช่นนั้นได้

“ตลาดปลากระป๋องเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคหรือไม่ มองว่าตลาดที่ตลาดติดลบปีก่อน และปีนี้ทรงตัว เพราะช่วงโควิดระบาด ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าจำเป็น อาหารสำเร็จรูปอาหารกระป๋องไปตุนไว้ ตอนนี้ตลาดจึงเข้าสู่ภาวะปกติมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากมองการขายสินค้า ยอมรับว่าปีนี้มีความยากลำบากขึ้น เพราะการแข่งขันสูง ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานอาหารมากขึ้น”

พฤติกรรมผู้บริโภค “ใช้เท่าที่มี”

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า ยอดขายมาม่าในประเทศไตรมาส 1 เติบโต 1.36% เป็นอัตราที่ต่ำ มองว่าเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมากกว่า ซึ่งปัจจุบันหากมีเงินพร้อมที่จะซื้อสินค้าตอบสนองความต้องการของตนเอง เช่น มีเงินกินชาบู สุกี้ พอสิ้นเดือน มีเงินเท่าไหร่ จะใช้จ่ายเท่าที่มีในกระเป๋า ไม่ใช่เกิดจากไม่มีกำลังซื้อ

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 53 หน่วยต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นกราฟที่เพิ่มสูงขึ้น จากอดีตเคยประเมินจะอิ่มตัวที่ 45 หน่วยต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม ปี 2567 คาดการณ์ตลาดบะหมี่ฯ จะเติบโตได้ 3-5% ซึ่งถือเป็นอัตราที่น่าพอใจ เนื่องจากฐานการบริโภคใหญ่ขึ้น การเติบโตอาจไม่มากไปกว่านี้

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าจำเป็น และไม่ใช่หมวดที่โดนดิสรัป ไม่มีวันไหนคนไม่กินอาหาร ข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่การที่ตลาดโตต่ำ เพราะวิธีการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยน ต้องการซื้ออะไรซื้อ วันนี้มีเงินพร้อมจ่ายเงินกินของดี วันต่อไปเงินเหลือเท่าไหร่ ก็พร้อมจ่ายและกินเท่านั้น”

ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้งเติบโต

นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สินค้าอุปโภคบริโภคของล็อกซเล่ย์ยังมีการเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันพืชกุ๊ก ซึ่งมียอดขายระดับ 2.5-3 แสนลังต่อเดือน จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 1.7-1.8 แสนลังต่อเดือน สะท้อนผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายเพื่อสินค้าจำเป็น ขณะที่ตลาดขนมขบเคี้ยว(สแน็ก)อาจทรงตัวบ้าง แต่เมื่อมีสินค้าใหม่ จะกระตุ้นกำลังซื้อได้ ผู้บริโภคอยากลองของใหม่ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มครึ่งปีหลัง บริษัทจะผลักดันน้ำมันพืชกุ๊ก ผลิตภัณฑ์ซอสลีกุมกี่ และนมหนองโพ สร้างการเติบโต

นอกจากนี้ ยังหาสินค้าจำเป็นแบรนด์ใหม่ๆเสริมพอร์ตโฟลิโอ ล่าสุดเป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า “หม่ำแซ่บXปุ้มปุ้ย” ตัวปลากระป๋อง และหอยลายกระป๋อง รวมถึงส.ขอนแก่น โดยสินค้าหม่ำแซ่บXปุ้มปุ้ย บริษัทตั้งเป้าสร้างยอดขายได้ 100 ล้านบาท ในปีแรก และเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อย 5% ของตลาดรวมปลากระป๋อง

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...