โจทย์ใหญ่ ‘ครม.เศรษฐกิจ’ ยุค ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เร่งฟื้นเชื่อมั่นประชาชน – เอกชน

ในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค. 2567) จะมีการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ถือว่าเป็นการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งแรกของรัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชัย วัชรงค์ ระบุว่านายกรัฐมนตรีจะมีการเรียกประชุมเศรษฐกิจทุกวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

การประชุม ครม.เศรษฐกิจเป็นอีกเครื่องมือในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ผ่านมาในหลายรัฐบาลมีทั้งการประชุม ครม.เศรษฐกิจในภาวะปกติเพื่อผลักดันวาระสำคัญ และบางครั้งการประชุม ครม.เศรษฐกิจเพื่อรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น การประชุม ครม.เศรษฐกิจจึงมี “ฟังก์ชั่น” ในการขับเคลื่อน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

ในสมัยที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การประชุม ครม.เศรษฐกิจ มอบหมายให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังในขณะนั้นดำเนินการประชุม โดยประเด็นในขณะนั้นเป็นการพูดคุยในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท

ต่อมาในสมัยรัฐบาล คสช.หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดึงสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ การประชุม ครม.เศรษฐกิจในสมัยนั้นก็มีการประชุมอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งมีการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ก็มีการตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของ. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  หรือ “ศบค.เศรษฐกิจ” ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้นอกจากมีคณะรัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมีตัวแทนจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตัวแทนจากหอการค้าฯและสมาคมธนาคารที่เข้ามาร่วมกันทำงานออกมาตรการสำคัญๆในการฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ซึ่งข้อดีของ ศบค.เศรษฐกิจของรัฐบาลที่แล้วก็คือหากมีวาระหรือข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมและผ่านความเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ทันทีทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆสามารถทำได้รวดเร็ว

 

            กลับมาที่การประชุม ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน การประชุมครั้งแรกเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที1 ขยายตัวได้เพียง 1.5% และทั้งปีนั้น สศช.คาดการณ์ว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.5% ซึ่งข้อมูลที่ออกมาบอกว่าประเทศไทยมีการเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน ทำให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายนโยบายอยู่เฉยไม่ได้ต้องมีการเรียกประชุมครม.เศรษฐกิจ

            หากไปดูรายละเอียดของตัวเลขเศรษฐกิจของไทยตัวที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 กลับเป็นการใช้จ่ายและการลงทุนรวมของภาครัฐ โดยการลงทุนของภาครัฐหดตัวถึง 27.7% ขณะที่การอุปโภคภาครัฐก็ลดลง 2.1% ซึ่งในส่วนนี้เป็นผลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า แต่มองในอีกมุมหนึ่งก็คือในช่วงที่ภาครัฐไม่มีกำลังการใช้จ่าย แรงส่งทางเศรษฐกิจจากภาคเอกชนก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาทดแทนได้ในอัตราที่เพียงพอจะพยุงเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวในระดับศักยภาพที่ระดับ 3 – 4% ได้ จะมีก็เพียงแค่ภาคการท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้อยู่ในแดนบวกไม่ขยายตัวต่ำหรือว่าติดลบเหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดการณ์

อย่างไรก็ตามการที่จะผลักดันให้การลงทุนของเอกชนเพิ่มขึ้นนั้นจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากความชัดเจนของนโยบาย แผนการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงก็สำคัญไม่แพ้กัน

โจทย์สำคัญในการประชุม ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นจะต้องทำให้ผลที่ออกมาจากการประชุมนั้นเป็นรูปธรรม จับต้องได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับวาระ และประเด็นที่จะนำเข้าสู่การประชุม มีแผน ระยะเวลาไทม์ไลในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆให้สำเร็จถึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และภาคเอกชนที่จับตาดูผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ว่า “ครม.เศรษฐกิจยุครัฐบาลเศรษฐา” ผลจากการประชุมที่ได้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร หากมีความชัดเจนในทางที่บวกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจึงจะกลับมา

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...