สินค้าไทย ‘ล้าหลัง’ ฉุดการผลิต-เศรษฐกิจป่วย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่เติบโตในระดับต่ำมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกไทยที่ “หดตัว” แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องก็ตาม

ประเด็นที่เราอยากชวนคิด คือ ไทยเป็นเพียง 1 ในไม่กี่ประเทศที่การส่งออกช่วงไตรมาสแรกปี 2567 “ติดลบ” ขณะที่ประเทศอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบคึกคัก โดยเฉพาะเวียดนามที่ขยายตัวสูงถึง 16.8% เรียกได้ว่าต่างกับไทยชนิดหน้ามือหลังมือ ซึ่งถ้าดูลึกลงไปกว่านั้นภาคการผลิตของไทยในไตรมาสดังกล่าวยังลดลงราว 3.7% เป็นการลดลงต่อเนื่องไตรมาสที่ 6 สะท้อนภาพ “เศรษฐกิจไทย” ที่ดูเหมือนคนกำลังป่วยหนัก!

ถ้าเจาะลึกไส้ในของตัวเลขการส่งออกที่ลดลง จะพบว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว โดยเฉพาะยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจร ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งถ้านำไปเทียบกับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือเวียดนาม จะพบว่า การส่งออกของประเทศเหล่านี้เร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของวงรอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่โลกกำลังต้องการ

ภาพเหล่านี้กำลังบอกอะไรเราหรือไม่ สินค้าเรายังเป็นที่ต้องการของโลกอยู่รึเปล่า? ...ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่า ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นล้วนได้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลาย ตามการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ หรือสมาร์ตโฟน แต่ของไทยเป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลาง เช่น วงจรรวม(IC) และ แผงวงจรพิมพ์(PCB) แม้สินค้าเหล่านี้จะเกาะเกี่ยวการฟื้นตัวของอิเล็กทรอนิกส์โลกได้บ้าง แต่ก็เป็นกลุ่มที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นแถมยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้ค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนว่าภูมิภาคอาเซียนได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสินค้าออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าที่สหรัฐใช้มาตรการทางภาษี แต่เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 แห่ง คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย พบว่า FDI ไหลเข้าไทยเพียงแค่ 2,969 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าอินโดฯ ที่ 21,701 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซียที่ 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ เวียดนามที่ 8,255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์เหล่านี้บ่งชี้ว่า เสน่ห์ของไทยกำลังหมดลงแล้วใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาแต่งหน้าทาปากกันใหม่หรือยัง?

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...