‘ยูโร 2024’ จะมีอัศวินม้าขาวมาช่วยซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยดูอีกไหม?

Key points

• ถึงแม้ว่ารายการฟุตบอลใหญ่อย่างยูโรหรือฟุตบอลโลกจะเคยเป็นมหกรรมกีฬาที่ได้ความสนใจอย่างสูงจากภาคเอกชนที่จะร่วมกันสร้างบรรยากาศ “เฟสติวัล” ปลุกกระแสการแข่งขันล่วงหน้าเป็นเดือนๆสร้างความคึกคักและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่ภาพบรรยากาศแบบนั้นคือความทรงจำสีจางๆ ที่ไม่ได้เห็นกันมายาวนานมากแล้ว

• ยกตัวอย่างกรณียูโร 2020 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดแบบ “ทั้งรายการ” ในตอนแรกสูงถึงระดับพันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากและเข้าใจได้ว่าทำไมจึงไม่มีผู้ประกอบการเจ้าใดทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาให้แฟนๆได้ชม

• อีกหนึ่งความเจ็บปวดคือการที่แฟนบอลจำนวนไม่น้อยชอบชมฟุตบอลผ่านช่องทางผิดกฎหมายทั้งหลาย ที่เรียกกันว่าช่องเถื่อน หรือจะเรียกกันแบบสนุกปากว่า “ช่องทางธรรมชาติ” บ่อยครั้งที่ช่องเถื่อนมีคนดูเยอะกว่าช่องแท้อีก แถมคนดูยังคอมเมนต์สนุกสนาน “ดูที่นี่ก็ได้ไม่ง้อ” “คิดว่าจะหาดูไม่ได้เหรอไง” ที่อ่านแล้วจี๊ดใจแทน

• แล้วแบบนี้คนไทยจะได้ดูฟุตบอลยูโร 2024 ไหม? ในตอนนี้ต้องบอกว่าตราบใดที่เสียงนกหวีดยังไม่ดังขึ้นเรายังมีโอกาสเสมอ

 

 

ปัญหาเดิมสำหรับแฟนลูกหนังชาวไทยได้วนกลับมาอีกครั้งด้วยเช่นกัน เมื่อไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าตกลงแล้วเราจะได้ดูการแข่งขันระดับเมเจอร์รายการนี้หรือไม่

โดยเฉพาะหลังจากที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่เคยมีส่วนยื่นมือเข้ามาสนับสนุนโดยตลอดประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่มีการยื่นมือเข้ามาจากทางภาครัฐอีกต่อไป โดยจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเอกชนที่จะทำการเจรจากันเองในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาให้แฟนๆชาวไทยได้ชมกัน

นั่นเป็นการบอกโดยนัยว่าภาครัฐ “ปล่อยจอย” จากเรื่องนี้แล้วจริงๆ

 

คำถามคือด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ จะยังมี “อัศวินม้าขาว” เอกชนเจ้าไหนที่เข้ามาเป็นฮีโร่เหมือนเมื่อ 3 ปีที่แล้วกับรายการ “ยูโร 2020” ที่ได้ “Aerosoft” ใช้งบประมาณกว่า 310 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์คนไทยดูฟรีๆได้อีก?

มหากาพย์จอดำ จุดเริ่มต้นความเคว้งคว้าง

เป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปีที่แฟนฟุตบอลชาวไทยมีโอกาสได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลระดับโลกแบบฟรีๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากกระแสความนิยมที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากฟุตบอลโลก 1990 ที่ประเทศอิตาลีเป็นต้นมา

สำหรับฟุตบอลยูโร แม้ว่าจะเป็นรายการแข่งขันสำหรับประเทศทางแถบยุโรปแต่ก็เป็นภูมิภาคหลักที่แฟนฟุตบอลติดตามนักเตะผ่านการแข่งขันในระดับสโมสรจากลีกที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, ลาลีกา สเปน, บุนเดสลีกา เยอรมนี, เซเรีย อา อิตาลี และลีกเอิง ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เป็นที่สนใจไม่น้อยไปกว่าฟุตบอลโลก

โดยเฉพาะนับจากฟุตบอลยูโร 1996 ที่ประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพและประสบความสำเร็จอย่างสูงทำให้ฟุตบอลยูโรเป็นอีกหนึ่งรายการที่จะมีการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั้งรายการมาให้แฟนๆได้ชม

อย่างไรก็ดีจุดเปลี่ยนสำคัญของฟุตบอลยูโรเกิดขึ้นในการแข่งขัน “ยูโร 2012” ที่ประเทศโปแลนด์และยูเครน ซึ่งในครั้งนั้นภาคเอกชนอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ลงทุนไปจำนวนมหาศาลหลายร้อยล้านบาทได้เริ่มมาตรการ “จอดำ” ปิดไม่ให้ผู้ใช้บริการกล่องรับชมโทรทัศน์เจ้าอื่นชมได้นอกจากผู้ที่ซื้อกล่อง GMM Z เท่านั้น

ผลปรากฏว่าได้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรง มีแฟนฟุตบอลที่ไม่พอใจและผิดหวังที่ไม่สามารถรับชมได้ กลายเป็นเรื่องราวระดับประเทศ ซึ่งจบด้วยการที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต้องยอมปล่อยสัญญาณการถ่ายทอดสดให้ช่องฟรีทีวีแบบฟรีๆ เช่นกันกับในรายการยูโร 2016 ที่ลิขสิทธิ์ยังเป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็จับมือกับช่อง 3 ในการถ่ายทอดสด

โดยที่หลังฉากนั้นด้านหนึ่ง กสทช. ได้ออกกฎหมาย “Must have” ระบุ 7 รายการกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูซึ่งมีการกำหนดรายการอย่างฟุตบอลโลก และโอลิมปิกไว้ในนั้นแต่ไม่มีรายการฟุตบอลยูโร ขณะที่อีกด้านหนึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เป็นผู้เสียหายได้มีการต่อสู้ทางกฎหมายซึ่งสุดท้ายศาลมีคำพิพากษาให้พวกเขาเป็นฝ่ายชนะคดี

เรื่องนี้ทำให้ชัดเจนว่าฟุตบอลยูโร ไม่อยู่ในกฎ Must have เอกชนสามารถซื้อลิขสิทธิ์และดำเนินการได้อย่างอิสระ

แต่ปัญหาคือดูเหมือนจะไม่มีเอกชนรายใดที่อยากจะยื่นมือเข้ามาแล้ว

ราคาสูง ผลตอบแทนต่ำ

ถึงแม้ว่ารายการฟุตบอลใหญ่อย่างยูโรหรือฟุตบอลโลกจะเคยเป็นมหกรรมกีฬาที่ได้ความสนใจอย่างสูงจากภาคเอกชนที่จะร่วมกันสร้างบรรยากาศ “เฟสติวัล” ปลุกกระแสการแข่งขันล่วงหน้าเป็นเดือนๆสร้างความคึกคักและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

แต่ภาพบรรยากาศแบบนั้นคือความทรงจำสีจางๆ ที่ไม่ได้เห็นกันมายาวนานมากแล้ว

ปัญหาใหญ่นั้นไม่ได้อยู่กับแค่เพียงเรื่องของกรณีจอดำที่ทำให้เอกชนกลัวไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด แต่อยู่ที่เรื่องปัญหาหลักอย่างค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ปัจจุบันนี้มีสนนราคาสูงจนน่าตกใจ

ยกตัวอย่างกรณียูโร 2020 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดแบบ “ทั้งรายการ” ในตอนแรกสูงถึงระดับพันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากและเข้าใจได้ว่าทำไมจึงไม่มีผู้ประกอบการเจ้าใดทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาให้แฟนๆได้ชม

เพราะการจะควักเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์ระดับนี้ ก็ต้องหาเงินจากสปอนเซอร์มารอไว้ก่อน แต่ปัญหาคือเมื่อค่าลิขสิทธิ์สูง ค่าแพ็คเกจโฆษณาก็สูงตามไปด้วย ต่อให้เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีเงินก็ไม่ได้แปลว่าจะพร้อมจ่ายเงินในระดับสิบหรือร้อยล้านเสมอไป

เมื่อไม่มีแนวโน้มว่าจะปิดงบโฆษณาได้ ก็ไม่มีความหวังและความจำเป็นที่จะต้องเปลืองตัว

ส่วนแบรนด์ต่างๆ ถ้าเป็น Global brand ที่มีแคมเปญการตลาดอยู่แล้วก็จะทำเพียงแค่ล้อไปกับแผนจากภูมิภาค ส่วนแบรนด์ท้องถิ่นอาจจะทำเพียงแค่ล้อกระแสนิดๆหน่อยๆพอเป็นสีสันเท่านั้น

ต้องยอมรับและทำใจว่าบรรยากาศความคึกคักแบบในอดีตเป็นเรื่องที่คงจะไม่หวนกลับมาแล้ว

 

คนไทยชอบดูของฟรีและเถื่อน

อีกส่วนของปัญหาคือแฟนฟุตบอลไทยเอง นอกเหนือจากเรื่องการชอบดูของฟรี (ความจริงของฟรีใครก็ชอบ) อีกหนึ่งความเจ็บปวดคือการที่แฟนบอลจำนวนไม่น้อยชอบชมฟุตบอลผ่านช่องทางผิดกฎหมายทั้งหลาย ที่เรียกกันว่าช่องเถื่อน หรือจะเรียกกันแบบสนุกปากว่า “ช่องทางธรรมชาติ”

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่น่าปวดหัวแทนผู้ประกอบการอย่างมาก เพราะมีกรณีตัวอย่างเยอะที่เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดลงทุนซื้อมาด้วยเงินมหาศาล เหนื่อยยากกว่าจะเจรจามาได้ แต่สุดท้ายช่องทางที่ถูกต้องกลับถูกมองข้าม แฟนบอลจำนวนไม่น้อยไปสิงกันตาม เพจเถื่อน ช่องเถื่อน

บ่อยครั้งที่ช่องเถื่อนมีคนดูเยอะกว่าช่องแท้อีก แถมคนดูยังคอมเมนต์สนุกสนาน “ดูที่นี่ก็ได้ไม่ง้อ” “คิดว่าจะหาดูไม่ได้เหรอไง” ที่อ่านแล้วจี๊ดใจแทน

การที่แฟนบอลกลุ่มนี้ทำแบบนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อใครเลย นอกจากไทยจะถูกจับตาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์แล้วยังทำให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนไปมหาศาลไม่ได้อะไรกลับมานอกจากเหนื่อยและเสียเงินฟรี ไม่สามารถใช้ตัวเลขผู้ชม​ (Eyeball) เพื่อแจ้งกับสปอนเซอร์ได้

 

จะมีอัศวินม้าขาวโผล่มาอีกไหม?

แล้วแบบนี้คนไทยจะได้ดูฟุตบอลยูโร 2024 ไหม?

ในตอนนี้ต้องบอกว่าตราบใดที่เสียงนกหวีดยังไม่ดังขึ้นเรายังมีโอกาสเสมอ ซึ่งจากการเปิดเผยที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีภาคเอกชนที่ไม่สนใจซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเลย เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาการเจรจาจะอิงกับภาครัฐอย่างการกีฬาแห่งประเทศไทยเสมอ ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นการ “ลงขัน” กัน

แต่เมื่อไม่มีเจ้าภาพอย่าง กกท. แล้วต้องลุ้นอย่างหนักว่าจะมีใครที่พร้อมจะลงทุนไปด้วยกันหรือไม่

หรือจะมีใครสักคนที่เข้ามาเป็น “อัศวินม้าขาว” ในแบบเดียวกับที่ “Aerosoft” ทำด้วยการทุ่มเงิน 10 ล้านดอลลาร์ (ราว 310 ล้านบาทในช่วงเวลานั้น) ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาให้คนไทยทุกคนได้ชมกันแบบฟรีๆตั้งแต่นัดแรกยันนัดสุดท้าย

เพียงแต่เรื่องอัศวินม้าขาวเป็นเรื่องที่ต้องเผื่อใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วเป็นเรื่องระดับ​ “ปรากฏการณ์” ในฐานะดีลพิเศษที่มีพลังทางการเมืองขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังที่สุดท้ายหวยออกที่บริษัทซัมมิต ฟุตแวร์ ของนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของแบรนด์ Aerosoft เป็นผู้ควักกระเป๋าจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพียงเจ้าเดียว

ตอนนี้พยายามใช้ญาณสัมผัสแล้วก็ไม่รู้สึกว่าจะมีเอกชนเจ้าไหนที่อยากจะจ่ายเงินในระดับนี้อีก

ความหวังอาจจะอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่คร่ำหวอดในวงการอย่าง ทรู วิชั่นส์ และเอไอเอส ที่จะลงทุนซื้อเพื่อออกอากาศบนแพลตฟอร์มของตัวเองไม่ว่าจะเป็น TrueID หรือ AIS Play แต่ก็ดูเป็นเรื่องที่ไม่ได้ง่ายนัก เพราะเวลาเหลือเพียงแค่ 1 เดือน คิดอ่านทำอะไรกันตอนนี้มันก็ดูจะช้าเกินไปหรือไม่

แต่ในอีกแง่หนึ่ง แท็คติกการดึงเวลาเพื่อให้ใกล้เริ่มรายการจะเป็นการบีบตัวแทนลิขสิทธิ์ให้ลดราคาลงมาในระดับที่พูดคุยกันได้ง่ายขึ้น เป็นเรื่องที่ทีมเจรจาฝ่ายไทยใช้เป็นประจำจนมีความชำนาญ

จากประสบการณ์และความรู้สึกแล้วเชื่อว่ายังคงมีความพยายามที่จะทำให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโร 2024 เหมือนทุกที โดยที่ครั้งนี้จะได้เห็น “สูตร” แบบไหนยังไม่แน่ใจ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ความร่วมมือกันระหว่างเอกชน  แต่รวมถึงเรื่องของรูปแบบการถ่ายทอดสดด้วย

มันอาจจะไม่จำเป็นต้องดูทุกนัดก็ได้ อาจจะเป็นแค่บางนัด บางเกม หรือขี้เหร่ที่สุดเกมเปิดสนามกับเกมนัดชิงชนะเลิศก็ยังดี

จะสูตรไหนก็ตามก็หวังว่ามันจะสำเร็จ เพื่อให้ทุกคนได้แฮปปี้ถ้วนหน้ากับมหกรรมฟุตบอลดีๆระดับโลกอีกครั้ง

แต่ถ้ามันจะไม่สำเร็จขึ้นมา และคนไทยต้องอดดูรายการยูโรเป็นหนแรกในรอบเกือบ 40 ปี ตรงนี้ก็ต้องทำใจ และไม่ต้องคิดโทษใครเลย

ทำตัวเองกันทั้งนั้น...

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...