‘รัฐบาล’ ลดกดดัน ‘แบงก์ชาติ’ เปิดทาง ‘พิชัย’ คุย ‘เศรษฐพุฒิ’ เคลื่อนเศรษฐกิจ

เป็นเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ กับการที่คนจากฟากฝั่งรัฐบาล รวมทั้งพรรคเพื่อไทยออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องของการเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย ไปจนถึงการที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แพรทองธาร ชินวัตร กล่าวบนเวทีปราศรัยของพรรคเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่ากฎหมายที่ให้ความเป็นอิสระกับแบงก์ชาตินั้นเป็นอุปสรรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทำให้นโยบายการคลังทำหน้าที่หนักมากเกินไปจนการขาดดุลงบประมาณเกิดขึ้นต่อเนื่อง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลจะเข้าไปลดความเป็นอิสระของแบงก์ชาติหรือไม่ ควบคู่ไปกับการมีกระแสข่าวออกมาถึงการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย การแยกหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินออกมาจากการดูแลของ ธปท. การโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน. Financial Institutions Development Fund (FIDF) ที่อยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะไปอยู่ในบัญชีของ ธปท.เพื่อลดหนี้สาธารณะและเปิดพื้นที่ทางการคลัง  

พลิกเกมให้ "พิชัย" คุยแบงก์ชาติแทนนายกฯ

จะเห็นว่าประเด็นต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและร้อนแรงภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ และค่อยๆซาลงหลังจากที่มีการปรับ ครม.เศรษฐา 2 พร้อมกับการเข้ามาของ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และเดินหน้านัดหมายหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเบื้องต้นนัดหมายกันวันที่ 16 พ.ค.นี้

ทั้งนี้แม้จะมีคำถามมาตลอดว่า “รอยร้าว” ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติจะสามารถผสานกันได้หรือไม่ ผู้สื่อข่าวมีการสอบถามไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยตรงซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่าขณะนี้ข่องทางในการพูดคุยกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ ผู้ว่าฯธปท.นั้นมีข้อจำกัดเพราะว่าผู้ว่าฯธปท.ระบุว่าหากมีอะไรต้องพูดคุยให้ผ่านกระทรวงการคลัง และตนเองก็จะติดตามงานผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และการพพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.ก็เป็นหน้าที่ที่นายพิชัยรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังจะต้องพูดคุยกัน

คีย์แมนระดับสูง สั่งลดโทนกดดันแบงก์ชาติ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนจากแกนนำระดับสูงในพรรคเพื่อไทยที่สั่งการให้ทุกคนในพรรคลดการกดดัน ธปท.ลงเพื่อเปิดโอกาสให้การพูดคุยกันระหว่าง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กับผู้ว่าฯธปท.เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ซึ่งแกนนำในพรรคเพื่อไทยมองว่าที่ผ่านมาการที่คนในพรรคเพื่อไทยทั้งที่มีตำแหน่งในรัฐบาล และไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาลออกมากดดัน ธปท.ทั้งเรื่องการลดดอกเบี้ย รวมทั้งการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของ ธปท.นั้นถือว่าได้ผลดีแล้ว ซึ่งแม้จะทำให้กระแสสังคมตีกลับมาที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยบ้างว่าไปล้วงลูกและพยายามแทรกแซงแบงก์ชาติแต่สิ่งที่พรรคทำสำเร็จก็คือเปิดประเด็นให้คนในสังคมเห็นว่าปัญหาทางเศรษฐกิจในขณะนี้เกิดจาก ธปท.ด้วย เช่นเดียวกับการที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินคนละ 10,000 บาทต้องล่าช้าออกไปนั้นก็ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย หากแต่เนื่องมาจากมีการคัดค้านขององค์กรต่างๆ ซึ่ง ธปท.ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่มีการคัดค้านโครงการนี้ โดยเฉพาะการคัดค้านครั้งล่าสุดที่ส่งเอกสารมายัง ครม.และมีการแนะนำให้รัฐบาลเอาเงิน 5 แสนล้านบาทไปลงทุนโครงการอื่นๆที่มีประโยชน์กับประเทศมากกว่า

“ตอนนี้ถือว่าทำได้สำเร็จแล้วในการที่ชี้ให้สังคมเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อะไรที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์แบบนี้แล้ว เพราะสังคมเข้าใจปัญหามากขึ้น มีคำสั่งมาจากผู้ใหญ่ในพรรคว่าให้หยุดพูด หยุดวิจารณ์แบงก์ชาติชั่วคราวก่อน และผู้ใหญ่มีการกำชับเป็นรายบุคคล เพราะรัฐมนตรีคลังได้นัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติอันนี้มีหลายเรื่องที่ต้องคุยกันเรื่องเศรษฐกิจจริงๆ หากมีแรงกดดันจากการเมืองเหมือนที่ผ่านมาคงยากที่จะมีการหารือกันได้ ”

ขณะที่ในส่วนของการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธปท.นั้นแม้จะมีบางส่วนในพรรคที่เสนอเรื่องนี้แล้วเห็นด้วยที่จะทำแต่ส่วนใหญ่ก็มองว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่พรรคต้องเดินหน้าเพื่อตอบโจทย์ทางการเมืองและนโยบายเร่งด่วนของพรรค ตอนนี้แนวทางระหว่างรัฐบาลและ ธปท.จึงเน้นการพูดคุยกับ ธปท.ก่อน เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และนโยบายเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ส่วนในอนาคต “รัฐบาล” จะหันมากดดัน “แบงก์ชาติ” อีกหรือไม่ คงบอกล่วงหน้าได้ยาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา นอกจากการนัดหารือกันในครั้งนี้ระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับผู้ว่าฯธปท.ในครั้งนี้แล้ว ยังต้องดูการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่ายที่ต้องมีการประชุมในบอร์ดเศรษฐกิจร่วมกันอีกหลายคณะไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ รวมทั้งการกำหนดกรอบเป้าหมายและประมาณการอัตราเงินเฟ้อร่วมกัน ซึ่งต้องจับตาการทำงานร่วมกันต่อไปว่าจะราบรื่น หรือสะดุดเหมือน10 เดือนที่ผ่านมา         

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...