‘แกร็บ’ ชู TRAVEL ดันไทยฮับท่องเที่ยว แอร์ไลน์ชงรัฐหนุนใช้ SAF สู่เน็ตซีโร่

วานนี้ (15 พ.ค.) แกร็บ ประเทศไทย” ได้จัดงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี “GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรม “นักท่องเที่ยวยุคใหม่”

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากแกร็บให้บริการในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี ได้เข้าไปมีบทบาทในการเดินทางของนักท่องเที่ยว เช่น บริการเรียกรถ (GrabCar) พบว่ามีลูกค้า “ชาวต่างชาติ” ใช้บริการมากเกือบ 50% ของจำนวนการเรียกรถทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่านักท่องเที่ยวเรียกรถไป “สนามมวย” เพิ่มขึ้น 150% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวสั่ง “อาหารไทย” ผ่านแกร็บฟู้ด (GrabFood) มากขึ้น 130% และนักท่องเที่ยวสั่งของจาก “ร้านค้าชุมชน” ผ่านแกร็บมาร์ท (GrabMart) เพิ่มขึ้น 100% โดยสินค้าติดอันดับขายดีในช่วงนี้คือ “กางเกงช้าง ทุเรียน และมะม่วง”

“ด้านยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านแกร็บจะมากกว่าคนไทย 2 เท่า เพราะมีดีมานด์ด้านบริการที่มากกว่า เช่น ต้องการรถคันใหญ่กว่า ทั้งนี้เมื่อดูจากภาพรวมการใช้บริการผ่านแกร็บของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงโลว์ซีซัน (เม.ย.-ก.ย.) ปัจจุบันพบว่ากราฟแทบไม่ตกท้องช้างเลย ต่างจากปกติที่กราฟจะตกท้องช้างชัดเจนในช่วงโลว์ซีซันหลังเพิ่งผ่านไฮซีซันไป”

วรฉัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะแกร็บเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีความแข็งแกร่งด้าน “อีโคซิสเต็ม” (Ecosystem) ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศ มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ ได้วางกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L.” ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและมหภาค พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ประกอบด้วย 6 ประเด็น ได้แก่ 1.Technology Integration การนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จากเทรนด์นักท่องเที่ยว “กลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง” (FIT) ครองสัดส่วน 87% ของนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยทั้งหมด และกว่า 53% จองทริปและวางแผนการเดินทางออนไลน์ แกร็บจึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมารองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว

2.Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่อง “ความปลอดภัย” ให้กับนักท่องเที่ยว เพราะความปลอดภัยคือปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พักหรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ แกร็บจึงได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย มาตรการด้านความปลอดภัย และการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย

3.Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึง “เมืองหลัก” และ “เมืองรอง” สอดรับกับเทรนด์นักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้การท่องเที่ยวเมืองรองในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 38% แกร็บจึงมุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อ ด้วยบริการเรียกรถที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งยังได้ผนึกความร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลักทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

4.Valuable Experience การสร้าง “ประสบการณ์การเดินทาง” ที่น่าจดจำ ความเป็นเลิศในด้านการบริการที่สอดแทรก “เสน่ห์ความเป็นไทย” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แกร็บจึงได้พัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ตเนอร์คนขับผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ แกร็บ อะคาเดมี (GrabAcademy) ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการ การสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการแกร็บคาร์พรีเมียม (GrabCar Premium) ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมอบความสะดวกสบายสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับนักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง

5.Environment Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ “รักษ์โลก” การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ จากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน แกร็บจึงนำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโครงการ แกร็บ อีวี (Grab EV) ส่งเสริมให้พาร์ตเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการเรียกรถเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร และการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น และในปี 2567 ตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 150,000 ต้น

และ 6.Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส “ประสบการณ์ท้องถิ่น” การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า 65% ของนักท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการไปเทศกาลประจำจังหวัดต่างๆ การได้ลิ้มลองอาหารพื้่นบ้าน หรือการอุดหนุนสินค้าชุมชน

ดังนั้น แกร็บในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อยและพาร์ตเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทยในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุ๊ก Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) การโปรโมตอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น

เพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวบนเวทีเสวนาเกี่ยวกับประเด็น “การท่องเที่ยวยั่งยืน” ว่า ตามที่ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” (IATA) ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 ทำให้ทุกสายการบินต้องปรับตัวครั้งใหญ่เป็น “สายการบินรักษ์โลก” โดยหลายประเทศในยุโรปได้กำหนดให้ใช้ “เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน” (SAF : Sustainable Aviation Fuel) มากขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ได้นำร่องกำหนดสัดส่วนการใช้น้ำมัน SAF ที่อัตรา 1% แล้ว

ปัจจุบันค่าน้ำมัน SAF แพงกว่าค่าน้ำมันอากาศยาน Jet A-1 ราว 3-5 เท่า ทางเอกชนสายการบินได้หารือกับรัฐบาลว่าควรเร่งเตรียมความพร้อมเรื่องการสนับสนุนสายการบินให้ใช้น้ำมัน SAF มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ได้อย่างแท้จริงตามเป้าหมายรัฐบาล เพราะบางสายการบินมีความจำเป็นต้องเติมน้ำมัน SAF สำหรับเที่ยวบินขากลับตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ ด้วย”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...