‘พลังงาน’ สำรองไฟ ‘มาบตาพุด’ หวั่นกระทบการผลิตอุตสาหกรรม

บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเครือ SCG ตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 เวลา 10.45 น. ซึ่งเป็นถังเก็บสารที่ใช้ในการผลิตอะโรเมติก (กลุ่มเส้นใยประดิษฐ์) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสังเคราะห์สารประกอบอื่น เช่น การผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สารตั้งต้นในการผลิตสีย้อม

ทั้งนี้ แม้จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว แต่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยังคงประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 และกระทรวงพลังงานได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการเช่นกัน 

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้รับรายงานว่าบริษัทฯ ได้ระดมทีมควบคุมสถานการณ์ทันทีตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งกระทรวงพลังงานประสานกรมธุรกิจพลังงานและพลังงานจังหวัดระยองร่วมเฝ้าระวัง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้เตรียมรับมืออย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามแผนหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นพบว่า เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน นอกจากนี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน สั่งการให้ตั้ง War room ขึ้น โดยให้กรมธุรกิจพลังงานและพลังงานจังหวัดระยองประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมการทำงานของ LNG Terminal ในมาบตาพุดให้ดำเนินการได้ตามปกติ และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมเชื้อเพลิงสำรองกรณีฉุกเฉิน

กฟผ.สำรองไฟฟ้าฉุกเฉิน

นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้ารองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 

ทั้งนี้ ได้สั่งเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ ด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก โรงไฟฟ้ากัลฟ์อุทัยด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติตะวันออก เพื่อเตรียมการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซล และเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ 

พร้อมทั้งประสานโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติตะวันออกทั้งหมดให้เตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิง

"ขณะนี้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทดแทนก๊าซธรรมชาติ จึงไม่กระทบการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า กฟผ.พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของทุกภาคส่วน” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ปิดร่องน้ำทางเดินเรือท่าเรือมาบตาพุด

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สั่งการให้ กนอ.เร่งตรวจสอบทุกระบบ และให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในการเผชิญสถานการณ์และบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน โดยมีนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า กนอ.บัญชาการประจำวอร์รูม ประจำวอร์รูม เพื่อประสานเหตุการณ์และระงับเหตุ

ส่วนการแก้ไขควบคุมเพลิงมีการระดมรถดับเพลิง เจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีทีมงาน EMCC มาบตาพุด และเจ้าหน้าที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดนำรถตรวจการณ์ EMCC ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณเหนือลมและท้ายลม 

รวมทั้งตรวจสอบผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ชุมชนพบว่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับบริษัท SC เพื่อใช้เรือในการอพยพบุคคลากรในพื้นที่

นอกจากนี้ มีรายงานทางข้อมูลเทคนิคทราบว่าบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการท่าเทียบเรือและคลังเก็บสินค้าเหลว (สารปิโตรเคมี, คลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์) 

รวมทั้งระหว่างการเดินระบบปกติได้เกิดกลุ่มควันบริเวณถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis Gasoline) หมายเลขถัง TK 1801 ขนาดบรรจุ 9,000 ลบ.ม. การเผชิญเหตุบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนตอบโต้สภาวะฉุกเฉิน และ กนอ.ได้จัดส่งรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณรอบ พร้อมทั้งแจ้งปิดร่องน้ำทางเดินเรือท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

ประเมินให้โรงงานกลับมาเดินเครื่อง

นายวีริศ กล่าวว่า เมื่อเวลา 16.35 น. วันที่ 9 พ.ค.2567 ได้รับรายงานว่าควบคุมเพลิงให้สงบ โดยจังหวัดระยองยังคงประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 และยังฉีดโฟมเพื่อหล่อเย็นบริเวณถังเก็บสารเคมี เพื่อรักษาอุณภูมิป้องกันการประทุขึ้นอีกครั้ง โดยมีโดรนบินตรวจวัดอุณหภูมิเหนือถังจนกว่าอุณหภูมิจะต่ำกว่าจุดวาบไฟ (42-57 องศาเซลเซียส)

สำหรับการจัดการน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงจะไม่มีการปล่อยระบายออกสู่ภายนอก โดย กนอ.กำชับให้บริษัท ดำเนินการรวบรวมน้ำทิ้งและส่งกำจัดตามหลักวิชาการต่อไป

 นอกจากนี้ วันที่ 10 พ.ค.2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะลงพื้นที่ ณ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อนำข้อมูลรายงานต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ส่วนประเด็นโรงงานในนิคมมาบตาพุดจะต้องหยุด Operate ด้วยหรือไม่ นายวีริศ ระบุว่า วันที่ 10 พ.ค.2567 น่าจะทำงานได้ แต่ขอประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...