'ทางหลวง' ลุ้น ครม.ไฟเขียวปีนี้ PPP 'ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์'

นายปิยพงษ์  จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 (M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน โดยระบุว่า ขณะนี้ทราบว่าทางกระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อรอบรรจุวาระเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งอาจจะติดปัญหาเรื่องการสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี คาดว่าโครงการนี้จะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในปีนี้ หลังจากนั้น ทล.จะดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคา (RFP) และเปิดประมูลได้ภายในปี 2568 เบื้องต้นจึงคาดว่าจะลงนามสัญญาพร้อมก่อสร้างได้ภายในปี 2569 โดยโครงการจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี มีกำหนดจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

สำหรับโครงการ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน มีระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 31,358.39 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 28,187 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบและอาคารที่เกี่ยวข้อง ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน วงเงิน 1,155 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง Rest Stop ด่านรังสิต 1 วงเงิน 7 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 77 ล้านบาท เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด วงเงิน 1,467 ล้านบาท และค่าออกแบบ-ควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 462 ล้านบาท

โดยผลการศึกษารูปแบบการลงทุน จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) ระยะเวลาสัมปทานไม่เกิน 34 ปี แบ่งเป็น ก่อสร้าง 4 ปี และบริหารโครงการ 30 ปี ขณะเดียวกันกำหนดให้มีรูปแบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน Build - Transfer - Operate (BTO) โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางและเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ดังกล่าวโดยตรง

ด้านเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment: AP) จากภาครัฐตามเงื่อนไขที่กำหนด ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างในอัตราคงที่เป็นระยะเวลา 15 ปี (ใช้กองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง) และค่า O&M เป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ จะเริ่มจ่ายให้เอกชนภายหลังเริ่มเปิดให้บริการ ส่วนเอกชนต้องชำระค่าตอบแทนในส่วนของ Rest Stop ให้ภาครัฐตามที่กำหนดในสัญญา

ในส่วนของรูปแบบโครงการ จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับตามแนวถนนพหลโยธิน 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย 1.จุดเชื่อมต่อบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่านรังสิต 1 2.ด่านรังสิต 2.จุดขึ้น-ลง ด่านรังสิต 2 3.จุดขึ้น-ลง ด่านคลองหลวง 4.จุดขึ้น-ลง ด่าน ม.ธรรมศาสตร์ 5.จุดขึ้น-ลง ด่านนวนคร 6.จุดขึ้น-ลง ด่านวไลยอลงกรณ์ และ 7.จุดขึ้น-ลง ด่านประตูน้ำพระอินทร์

โดยโครงการนี้จะมีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ M-Flow มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลล์เวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย)

ทั้งนี้ แนวเส้นทางของโครงการยังเชื่อมต่อได้โดยตรงกับมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ด้านเหนือ และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...