ถกประเด็น! รู้ยัง เป็นแม่ค้าขายเครื่องประดับก็ต้องเสียภาษี

หลายคนหนีจากการเป็นพนักงานประจำ หันหลังให้กับการทำงาน Full Time แล้วใช้ชีวิตแบบอิสระด้วยการเลือกค้าขาย ซึ่งการค้าขายก็มีสินค้าหลากหลายที่สามารถนำมาขายได้ อย่างเช่น บางรายนำทุกอย่างมาขาย และหลายรายก็เลือกขายแค่สินค้าบางอย่างที่ตนเองสามารถควบคุมการดำเนินงานได้ เพราะจะต้องมีการเสียภาษีด้วย

และสินค้าที่หลายคนมองข้ามอย่าง “เครื่องประดับ” ซึ่งมีทั้งที่เป็นสินค้าในประเทศและนำเข้ามาเพื่อขายในประเทศไทย ผู้ขายอาจยังสับสนว่าจะต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่ เนื่องจากเป็นสินค้ากระจุกกระจิก รายได้ไม่เยอะเหมือนสินค้าอื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กซื้อมาขายไป หรือธุรกิจขนาดใหญ่ผลิต นำเข้าและจำหน่ายรายรับและรายจ่ายของกิจการจะต้องนำมาหักลบเพื่อเสียภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดดังนี้

  • รายจ่ายจากการขายเครื่องประดับแบบไหนมีผลต่อภาษี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

รายจ่ายที่ผู้ขายเครื่องประดับได้มีการใช้จ่ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ จากผู้ขายที่เป็นนิติบุคคลและได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะถูกเก็บภาษี 7% จากรายจ่ายนั้นๆ และผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้

ทั้งนี้ ในกรณีที่กิจการในฐานะเป็นร้านขายเครื่องประดับที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อถูกหักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องจัดเก็บใบกำกับภาษีไว้เพื่อใช้สำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน และเพื่อเป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีเงินได้ รวมถึงกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ และจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบเพื่อส่งกรมสรรพากรด้วย

ภาษีศุลกากร

เนื่องจากกิจการขายเครื่องประดับ ในบางกรณีมีการผลิตและขายเครื่องประดับที่อาจมีวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือบางรายการ ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อประกอบธุรกิจ ด้วยเหตุนี้กิจการจึงมีหน้าที่ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้า โดยสามารทำได้ดังนี้  

1.ลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเท่านั้น

2.ผ่านพิธีการนำเข้าสินค้าโดยต้องศึกษาเรื่องพิกัดอัตราภาษีศุลกากรตามประเภทของสินค้าที่นำเข้า เช่น 30% สำหรับสินค้าประเภท เครื่องสำอาง หมวก น้ำหอม รองเท้า ผ้าห่ม ร่ม 20% สำหรับสินค้าประเภท กระเป๋า 10% สำหรับสินค้าประเภท CD DVD อัลบั้ม Power Bank หูฟัง Headphone Earphones ตุ๊กตา และ 5% สำหรับสินค้าประเภท นาฬิกา แว่นตา แว่นกันแดด

โดยในส่วนของเครื่องประดับ อัญมณี บางพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ในกรณีที่กิจการผลิตและขายเครื่องประดับในนามนิติบุคคล เมื่อมีการจ้างพนักงานประจำ ลูกจ้าง ต้องทำการหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย กับพนักงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนด เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปที่จ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง หรือโบนัส เป็นต้น

  • รายรับจากการขายเครื่องประดับแบบไหนมีผลต่อภาษี

พ่อค้าแม่ค้าที่ขายเครื่องประดับ มีทั้งแบบที่ขายในประเทศไทยและขายเพื่อการส่งออก ซึ่งมีภาษีเครื่องประดับที่เกี่ยวข้องดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับกิจการที่ขายเครื่องประดับแบบไม่ได้จดทะเบียนบริษัท จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งรายรับที่ได้จากการขายเครื่องประดับ จัดเป็นเงินได้มาตรา 40(8) (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8) จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) โดยให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
และยื่นภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) โดยให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษีนั้น ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป พร้อมกับนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับกิจการที่ขายเครื่องประดับในนามนิติบุคคล ต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) คือรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และยื่นเสียภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบเวลาบัญชี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตามหลักการเจ้าของกิจการเครื่องประดับมีผลประกอบการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ พร้อมออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อส่งมอบสินค้าทุกครั้ง รวมถึงมีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ รายงานภาษีขาย และยื่นแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนให้กับกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป 

และหากกิจการมีการขายเครื่องประดับเพื่อส่งออกด้วย จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเสียภาษีในอัตรา 0% และยื่นใบขนของขาออกเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร เพื่อเสียอากรขาออกตามที่กฎหมายกำหนด

สรุป

ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าที่กำลังคิดอยากขายเครื่องประดับ อย่าลืมเสียภาษีให้ตรงกับประเภทธุรกิจของตนเอง อย่างเช่น แม่ค้าขายเครื่องประดับในนามบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดทะเบียนบริษัท ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือเมื่อได้รับใบกำกับภาษีจากการซื้อวัสดุอุปกรณ์ของกิจการ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

​แต่หากเป็นกิจการค้าขายเครื่องประดับที่จดทะเบียนนิติบุคคล ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อกิจการมีการใช้บริการตามประเภทรายจ่ายที่กฎหมายกำหนด และหากจดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะสามารถนำภาษีซื้อมาหักลบภาษีขาย ขอคืนภาษีซื้อ หรือเครดิตภาษีขายได้  ซึ่งจะช่วยทำให้ประหยัดภาษีได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...