ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำกับสื่อนอก ธปท.เป็นอิสระ เมินแรงกดดันการเมือง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "Street Signs Asia" ของสำนักข่าว CNBC วันนี้ (29 เม.ย.) ว่า แรงกดดันทางการเมืองจะไม่ทำให้ ธปท.เสียความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย และแม้จะมีแรงกดดันอย่างมากให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ ธปท. ก็ไม่ได้ดำเนินการตาม หากไม่ใช่การดำเนินการอย่างเป็นอิสระ

"เรื่องนี้ถูกพิสูจน์มานักต่อนักแล้ว" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

"ผมคิดว่ากรอบการกำกับดูแลของแบงก์ชาตินั้นค่อนข้างชัดเจน...การตัดสินใจที่ผ่านๆ มาบ่งชี้ถึงการดำเนินการบนพื้นฐานของสิ่งที่เรารู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดต่อเศรษฐกิจประเทศ มากกว่าจะเป็นความพยายามเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรืออื่นๆ" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ก่อนหน้านี้รอยเตอร์สรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน เม.ย. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ทว่า ธปท.เผชิญแรงกดดันอย่างจากรัฐบาลให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งแรงกดดันนี้ยังมาจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยเองด้วย 

จากบันทึกการประชุมของ กนง.ในเดือนเม.ย. ระบุว่า กนง.มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับว่า การรักษาสมดุลระหว่างนโยบายการเงินกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงนั้นเป็นงานที่ยากสำหรับแบงก์ชาติ แต่หากดูเหตุผลของสิ่งที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงจะพบว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากนัก  

 

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว และสอดคล้องกับความพยายามที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องรักษาสมดุลไม่เพิ่มภาระให้ครัวเรือนมากจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามไม่ให้ประชาชนก่อหนี้ใหม่มากจนเกินไปด้วย    

 

ทั้งนี้ ธปท.ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 2.6% และปีหน้าที่ 3.0% โดยยังคงได้แรงหนุนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอ่อนแรงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ แต่ผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำว่า แบงก์ชาติมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ระหว่าง 1-3% ภายในสิ้นปีนี้  

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน โดยจำเป็นต้องมีการเพิ่มผลิตภาพในขณะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและประชากรวัยทำงานหดตัวลง 

"เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นที่การลงทุนภาครัฐให้มากขึ้น มากกว่าพวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น" 

"ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คือการลดและผ่อนคลายกฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...