ดันส่งออกอาหารสัตว์ VS ปัญหาฝุ่นพิษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะดัน “ไทย” เป็นผู้นำของโลกในการผลิต-ส่งออกอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจถึง 3 แสนล้านบาท

คนอ่านข่าวเร็วๆ คงต้องถึงกับตกใจ เพราะไม่แน่ใจว่า “อาหารสัตว์” ที่รัฐบาลหมายถึงนั้น เป็นอาหารสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพด ที่ถือเป็นสินค้ามูลค่าต่ำ (commodiy) หรืออาหารสัตว์เลี้ยง อาทิ อาหารเม็ด/กระป๋องของสุนัข แมว ที่เป็นสินค้ามูลค่าสูง (Specialty) แตกต่างจากกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง

ที่ต้องตกใจเพราะว่า ขณะนี้ ไทยยังมีปัญหาเรื่องของฝุ่นพิษ และงานวิจัยหลายชิ้นก็ชี้ตรงกันว่า หนึ่งในปัจจัยหลักของฝุ่นพิษนี้ก็คือ พืชไร่ ซึ่งอาหารสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพดก็คือหนึ่งในปัจจัยนี้ ไม่เพียงแต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ที่เกษตรกรนิยมใช้วิธีเผาไร่เพื่อทั้งเก็บเกี่ยวและเตรียมดิน เพราะการเผานี้เป็นวิธีที่ถูกที่สุด และสินค้าเกษตรเหล่านี้ก็แข่งกันที่ราคา ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่าจะยังคงมีการเผาต่อไปอีกระยะ จนกว่ารัฐจะออกมาจัดการอย่างเข้มงวด

แต่เมื่อมีการเผาไร่เพื่อเตรียมดินในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วไทยจะทำอย่างไรได้บ้าง? ถึงแม้ในทางทฤษฎีแล้วเราจะทำไม่ได้ แต่ทางปฎิบัติมีวิธีเยอะแยะมากมายในการจัดการ และหนึ่งในนั้นก็คือการออกกฎหมายคุมเข้มสินค้าขาเข้า การตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวดและภาษีจะทำให้สินค้าที่นำเข้ามาขายในไทยนั้น ไม่ใช่ต้นเหตุของฝุ่นพิษ

ทั้งงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างระบุตรงกันว่า สาเหตุของฝุ่นพิษในไทยนั้นมาจาก 2 แหล่ง คือมลพิษภายในเมืองนั้นๆ อาทิ การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และอีกแหล่งคือมาจากการเผาไร่ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในขอบเขตประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ซึ่งผลผลิตที่เพื่อนบ้านเพาะปลูกก็ไม่เอาไว้กินไว้ใช้เฉพาะในประเทศ แต่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของไทย พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านว่า “ปลูกเพื่อส่งขายให้ไทย” นั่นเอง

ดังนั้น รัฐจึงมีอำนาจในการบริหารจัดการโรงานผู้ซื้อเพื่อแปรรูปสินค้าเหล่านั้น และต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนมากกว่านายทุน

เคยมีรายงานที่ “กรีนพีช” กับ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ทำร่วมกัน ระบุว่า ภายใน 5 ปีระหว่าง 2558-2563 มีพื้นที่ป่าในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนถูกทำลายและแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดแล้วกว่า 10.6 ล้านไร่ และหากแบ่งตามเขตประเทศจะพบว่า 5.1 ล้านไร่อยู่ในลาวตอนบน 2.9 ล้านไร่อยู่ในรัฐฉานของเมียนมา และ 2.5 ล้านไร่อยู่ในภาคเหนือของไทย และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมภาคเหนือของเราถึงประสบกับภัยพิบัติฝุ่นพิษทุกปี โดยไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงเลย

ยังมีรายงานของจุดความร้อนซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว อย่างข้าวโพดในกัมพูชา ที่พบว่า จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาไร่นั้นก็เกิดขึ้นมากในบริเวณที่รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานแก่นายทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งดูแล้ว เหมือนจะเป็นการยากที่รัฐไทยจะเข้าไปแทรกแซง แต่จริงๆ แล้ว เรายังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกมาก เพราะไทยและกัมพูชานั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในหลายมิติ

ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใด รัฐบาลที่บอกว่าตั้งใจและกำลังจัดการกับปัญหาเรื่องฝุ่นพิษอย่างจริงจัง แต่ประชาชนกลับไม่เห็นผลลัพธ์เท่าที่ควร ซึ่งการจัดการฝุ่นนี้ หากมองอย่างลึกซึ้งแล้ว มันคือผลงานระดับชิ้นโบแดงหากทำสำเร็จ เพราะทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ คนชั้นกลางได้ประโยชน์ คนจนได้ประโยชน์ คนรวยก็ได้ประโยชน์ เผลอๆ จะได้รับความนิยมมากกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเสียด้วยซ้ำ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...