OFOS ฝันใหญ่! ซอฟต์พาวเวอร์ไทย

เทศกาลสงกรานต์ 2567 รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือให้เป็นเฟสติวัลระดับโลก สร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยให้ชาวต่างชาติมาเที่ยว ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สรุปข้อมูลล่าสุดของการท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1- 21 เมษายน 2567 สร้างรายได้รวม 1.4 แสนล้านบาท สูงกว่าการประเมินก่อนหน้านี้ประมาณหมื่นล้านบาท 

ส่วนสถิติยอดอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 287 ศพ บาดเจ็บ 2,060 คน สาเหตุหลักมาจากขับรถเร็ว ข้อมูลจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบจำนวนของผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย

สรุปจากตัวเลขคือ เทศกาลสงกรานต์ปีนี้รายได้เพิ่ม อุบัติเหตุลด แต่ยอดเสียชีวิตยังเพิ่มเพราะขับรถเร็ว ปัญหานี้ต้องหาทางแก้ต่อไป
เมื่อประเมินภาพรวมแล้ว ถือว่า การจัดเทศกาลสาดน้ำในฤดูร้อนนี้ ทำได้ดีในแง่การบริหารจัดการพื้นที่เล่นน้ำของกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

กระนั้น ต้องตามต่อ สำหรับงานใหญ่ซอฟต์พาวเวอร์ลำดับต่อไปของรัฐบาล คือ โครงการโอเอฟโอเอส OFOS (One Family One Soft Power) หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในเดือนกันยายน 2567 จะพัฒนาศักยภาพคนไทยให้ได้อย่างน้อย 2.9 แสนคน
 
ภายใน 4 ปี จะสร้างคนเป็นแรงงานทักษะสร้างสรรค์สูง 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ทั่วประเทศ โดยทุกครอบครัวเหล่านี้ สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนบาทต่อปี ภายใต้การทำงานของ THACCA (Thailand Creative Content Agency) หรือ ทักก้า จะเป็นเจ้าภาพหลัก ดูทั้งระบบเบ็ดเสร็จองค์กรเดียว

สำหรับแผนงานหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มลงทะเบียนต้นเดือนมิถุนายน 2567 อบรมต้นเดือนกรกฎาคม 2567 เปิดลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ลงทะเบียนผ่านกองทุนหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ อบรมระบบออนไซต์ 3 หมื่นคนและอบรมผ่านระบบออนไลน์  2.6 แสนคน

คำอธิบายจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะให้ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ดำเนินการตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ร้องเพลง แฟชั่น ศิลปะ มวยไทย และอื่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการอบรมแม้แต่บาทเดียว

ทว่า การขับเคลื่อนแผนหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ต้องใช้งบประมาณและข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รัฐบาลแผนใช้งบประมาณประจำปี รวมถึงซื้อใจข้าราชการด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่จะเริ่มวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ได้แต่เพียรหวังว่าข้าราชการจะเป็นกลไกสำคัญในการนำนโยบายรัฐไปสร้างการรับรู้และลงมือปฏิบัติแก่ชุมชน

แน่นอนว่า ภาพฝันของรัฐบาลเพื่อไทยที่จะสร้างคนเป็นแรงงานทักษะสร้างสรรค์สูง 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัวภายใน 4 ปีนั้น พูดกันตามจริงก็อาจเพ้อฝัน

ท่ามกลางการจับจ้องจากฝ่ายค้านและนักวิชาการ ว่าเป็นนโยบายเสี่ยงตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ดังนั้น การลงทุนงบประมาณต้องสมเหตุสมผลและกำกับดูแลให้โปร่งใส สร้างประโยชน์การเรียนรู้ทักษะใหม่แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสุดท้ายเสียงประชาชนจะสะท้อนเป็นคำตอบในที่สุด
 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

- บทความที่เกี่ยวข้องกับ soft power ทั้งหมด

- บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...