'ทุเรียน' ราชาผลไม้ไทย ปลูกขายเสียภาษีเท่าไหร่กันแน่?

เมื่อ "ทุเรียน" คือราชาของผลไม้ไทย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนไทยเองหรือชาติอื่นๆ ต่างก็ชื่นชอบรสชาติของทุเรียนไทยด้วยกันทั้งสิ้น และด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจที่เราเห็นเกษตรกรปลูกทุเรียนกันทั่วทุกภาค มีทั้งที่ปลูกมานานตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วงการเกษตรกรทุเรียนก็มีให้เห็นอยู่ตลอด

​ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเกษตรกรปลูกทุเรียนกับภาษีที่เกี่ยวข้องกันว่า ลักษณะไหนได้ยกเว้นภาษี หรือภาษี 0% แบบไหนต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ได้จากบรรทัดต่อจากนี้

ภาษีที่ดินสำหรับใช้ปลูกทุเรียน

ตามหลักการของผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินที่มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ก็ตาม ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา รวมถึงนิติบุคคล และมีชื่ออยู่ในทะเบียนเอกสารสิทธิ หรือปรากฏเข้าครอบครอง เช่น เกษตรกรที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีที่ดิน
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับการนำที่ดินไปใช้เพื่อการเกษตรหรือปลูกทุเรียน สามารถแบ่งได้ดังนี้

1.ที่ดินสำหรับบุคคลธรรมดาที่ทำการเกษตรปลูกทุเรียน

- มูลค่าที่ดิน 0 - 75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
- มูลค่าที่ดิน 75 - 100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน 100 - 500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดิน 500 - 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
- มูลค่าที่ดิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

2.ที่ดินสำหรับนิติบุคคลที่ทำการเกษตรปลูกทุเรียน

- มูลค่าที่ดิน 0-75 ล้านบาท = 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
- มูลค่าที่ดิน มากกว่า 75-100 ล้านบาท = 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน มากกว่า 100-500 ล้านบาท = 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดินมากกว่า 500-1,000 ล้านบาท = 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
- มูลค่าที่ดิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป = 0.10% หรือล้านละ 1,000 บาท

หลักการจัดการภาษีที่เกี่ยวข้อง เมื่อปลูกทุเรียนจำหน่าย

หลักการสำคัญของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนเป็นอาชีพ ทั้งที่ทำในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะมีการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเหมือนและต่างกันในรายละเอียดต่อไปนี้ ​

1.เกษตรกรที่จะปลูกทุเรียนเพื่อการจำหน่าย จะต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มประกอบกิจการ

2.เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถึงแม้ว่าพื้นฐานสำหรับผู้ที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปในประเทศจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็สามารถยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนได้ ทั้งเกษตรกรที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หรือกรณีที่มีการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้รับการแปรรูป ก็มีความจำเป็นต้องจด VAT

3.เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เพื่อใช้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การหักภาษี ณ ที่จ่าย

4.เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในนามบุคคลธรรมดา จะต้องนำข้อมูลรายรับรายจ่ายตลอดทั้งปี ไปใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่ามองข้ามภาษี 2 ประเภท ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนควรทราบ

​อย่างที่กล่าวไปบ้างแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน โดยมี 2 ภาษีที่เกี่ยวข้องที่เกษตรกรไม่ควรมองข้าม ซึ่งสามารถอธิบายโดยละเอียดได้ดังนี้

1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรขนาดย่อม ที่มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่สามารถขอจด VAT ได้ ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจเกษตรเพื่อการส่งออกทุเรียนที่เลือกจด VAT ก็จะได้ VAT 0% และสามารถนำต้นทุนบางอย่างมาเครดิตภาษีขายได้ หรือขอภาษีซื้อคืนได้เช่นกัน​

2.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกรณีผู้ปลูกทุเรียนได้ขอจดเป็นนิติบุคคล มีการว่าจ้างแรงงาน มีการจ่ายเงินเดือน สวัสดิการ ค่าจ้าง ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งเมื่อจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

เกษตรกรสวนทุเรียนยื่นภาษีช่วงไหนบ้าง

ตามหลักกฎหมายเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ทั้งที่ทำในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เมื่อมีรายได้จะต้องยื่นภาษี 2 ครั้ง/ปี ตามช่วงเวลาดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน จัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) จะต้องนำรายได้มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ครั้งต่อปี ดังนี้

- ภาษีครึ่งปี เป็นการนำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ของปีนั้น ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีที่ได้รับเงิน

- ภาษีสิ้นปี เป็นการนำรายได้ตลอดทั้งปีก่อนหักรายจ่ายใดๆ มาคำนวณภาษี ยื่นแบบแบบ ภ.ง.ด.90 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป หรือยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน ของทุกปี โดยหักด้วยภาษีที่ได้ชำระไว้แล้วเมื่อตอนยื่นแบบครึ่งปี

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำรายได้จากปลูกทุเรียนจำหน่ายตลอดทั้งปี มาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี 2 ครั้งเช่นกัน ดังนี้

- ภาษีครึ่งปี ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 และชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

- ภาษีสิ้นปี ให้ยื่น ภ.ง.ด.50 และชำระภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
 
สรุป

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล (กรณีจดบริษัทเป็นนิติบุคคล) ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย (กรณีจดบริษัทเป็นนิติบุคคล) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากขายสินค้าเกษตรไม่แปรรูปได้ยกเว้น VAT แต่สามารถขอจด VAT ได้ รวมถึงหากขายสินค้าเกษตรแปรรูปต้องจด VAT และหากส่งออกสินค้าเกษตร VAT 0%
 
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...