พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มาตรา 50 VS 57...ความต่างที่เหมือน

อย่างไรก็ตาม ในทุกการแข่งขันย่อมต้องมีกฎ กติกาที่เป็นธรรม สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าซึ่งถือเป็นกฎ กติกาของการแข่งขันทางการค้า

ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการเชิงบริหารในการกำกับดูแล และสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม อันจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นใจในบรรยากาศการค้า การลงทุนที่ดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ 

มาตรา 50 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ) เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

โดยมาตรา 50 บัญญัติไว้มีใจความโดยรวมว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้

1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้า หรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

2) กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตน ต้องจำกัดการผลิต การซื้อ การบริการ การจำหน่ายสินค้า หรือจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า หรือจำกัดการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น

3) ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด และ

4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร”

ในขณะที่มาตรา 57 บัญญัติไว้มีใจความโดยรวมว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้

1) กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม

2) ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม

3) กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัด ขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม และ

4) กระทำการในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

จะเห็นได้ว่าหากพิจารณาตามตัวอักษร มาตรา 50 และมาตรา 57 จะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าหากพิจารณาบนพื้นฐานของพฤติกรรมทางการค้า ข้อห้ามของการกระทำต่อพฤติกรรมทางการค้าของทั้ง 2 มาตรามีลักษณะคล้ายคลึงกัน

หรืออาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะต้องห้ามของพฤติกรรมทางการค้าเดียวกัน แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้มาตรา 50 และมาตรา 57 มีความแตกต่างกันคือ “สถานภาพของผู้กระทำความผิด” กล่าวคือ ผู้กระทำความผิด และเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 50 จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด

(ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด) ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำความผิดตามมาตรา 57 คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งโทษตามมาตรา 50 จะเป็น “โทษทางอาญา” ในขณะที่โทษตามมาตรา 57 จะเป็น “โทษทางปกครอง”  

อาจกล่าวได้ว่า เพราะความต่างในสถานภาพของผู้กระทำความผิดของทั้ง 2 มาตรานี่เองที่อาจเป็นสาเหตุให้การบัญญัติพฤติกรรมทางการค้าที่ต้องห้ามของทั้ง 2 มาตรามีความต่าง เช่น

ในมาตรา 50 เพราะผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงสามารถจะกำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม รวมไปถึงสามารถที่จะระงับหรือจำกัดการบริการ การผลิต เพื่อลดปริมาณสินค้าหรือบริการให้ต่ำกว่า ความต้องการของตลาดได้ จึงจำต้องบัญญัติไว้เป็นพฤติกรรมต้องห้าม ใน

ขณะที่มาตรา 57 เพราะผู้กระทำความผิดมิได้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงทำได้เพียงกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมต้องห้ามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 ถือเป็นพฤติกรรมที่ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด กล่าวคือ หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีพฤติกรรมทางการค้าอย่างหนึ่งอย่างใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 จะถือว่ามีความผิด โดยมิต้องคำนึงว่า พฤติกรรมทางการค้าดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางลบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นหรือไม่

ในขณะที่การบังคับใช้มาตรา 57 จะเป็นไปในลักษณะของการยึดหลักเหตุและผล กล่าวคือ หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีพฤติกรรมต้องห้ามตามมาตรา 57 จำต้องคำนึงด้วยว่า พฤติกรรมทางการค้าที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบธุรกิจรายนั้น สร้างผลกระทบทางลบหรือเกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นหรือไม่.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...