‘พ.ร.บ.ซอฟต์พาวเวอร์‘เข้าสภาฯสมัยหน้า ‘รัฐบาล’ ปักหมุดตั้ง ‘THACCA’ ปี 68

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้คนไทยและสร้างรายได้ให้ประชาชนปีละ 4 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อผลักดันการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้คนไทย 20 ล้านครอบครัว สู่รายงานขั้นสูงและแรงงานในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 2 แสนบาทต่อปี

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดตัวการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรมเมื่อเดือน ก.ย.2566 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 29 คน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 ตามมาด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการ 11 สาขา 

ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ในวันที่ 25 ต.ค.2566 ก่อนที่ในเดือนต่อมาคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เห็นชอบกรอบงบประมาณ 5,164 ล้านบาท ในปี 2567 โดยอยู่ในงบประมาณของแต่ละกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยทั้ง 11 ด้าน

สำหรับการดำเนินการนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลในระยะต่อไป นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคลัง เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลถือว่ามีความคืบหน้า โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ประชุมหารือเรื่องนี้บ่อยครั้ง และติดตามงานต่อเนื่อง

ส่วนกฎหมายการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลมีความคืบหน้าไปมาก 

เร่งเสนอ ครม.อนุมัติร่างกฎหมาย

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบโครงสร้างองค์กรและขั้นตอนของกฎหมาย โดยในส่วนร่างกฎหมายรัฐบาลร่างเสร็จแล้วโดยขณะนี้อยู่ในชั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 โดยมีการกำหนดระยะเวลาไว้ตามกฎหมายหลังจากนั้นจะได้ส่งเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.เห็นชอบจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายที่ต้องดำเนินให้ครบถ้วนก่อนส่งสภาผู้แทนราษฎร หวังว่าจะเสนอได้ในสมัยประชุมถัดไป โดยสภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาจัดตั้งโครงสร้างให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

สำหรับงบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ แต่มีหลายนโยบายที่เป็นกลไกที่ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของภาคเอกชน เพราะเอกชนเป็นช่องทางขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งจะเสนอความเห็นทางธุรกิจและนำเสนอรูปแบบโครงการที่จะเกิดประโยชน์กับแต่ละธุรกิจ

“เป็นความฝันของรัฐบาลที่อยากให้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนธุรกิจ เมื่อภาคเอกชนเสนอเสนอแนะมายังภาครัฐ ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักงบประมาณและจากนั้นจะต้องโครงการที่ริเริ่มจากภาครัฐที่จะเสริมเติมเข้าไป ซึ่งจะเห็นอีกครั้งเวลาที่มีการเสนองบประมาณปี 2568 ต่อสภาผู้แทนราษฎร” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าการผลักดันกฎหมายเพื่อจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง THACCA ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่รวบรวมงบประมาณและภารกิจที่เคยใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไว้ที่เดียว

นายกฯ คุมเองดันซอฟต์พาวเวอร์

ทั้งนี้ THACCA จะเป็นหน่วยงานใหม่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยเมื่อจัดตั้งองค์กรแล้วเสร็จจะเข้ามาทำหน้าที่แทน “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศในขณะนี้

นอกจากนี้ THACCA จะสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนการทำงาน ซึ่งสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

รวมทั้งในอนาคตเมื่อจัดตั้งองค์กรแล้วเสร็จจะมีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบจัดการฝึกอบรม Upskill / Reskill ทักษะด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ตามโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) สนับสนุนด้านการเงิน 

ทั้งนี้จะมีการตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยที่มาของกองทุนมาจากทุนประเดิมจากรัฐบาล รวมถึงงบประมาณประจำปี การเก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการโอนเงินมาจากกองทุนหมุนเวียน 7 กองทุน

รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม สนับสนุนองค์ความรู้ โดยการ รวบรวมข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ

นอกจากนี้จะสนับสนุนการเผยแพร่และสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่และส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขัน โดยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา รับรองมาตรฐานอาชีพ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ และกำหนดมาตรการส่งเสริมการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม 

และเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่ให้เอกชนติดต่อประสานงานหรือขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐในการทำงานของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์แบบครบวงจรจบในที่เดียว รวมทั้งทำงานร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่งเสริม11กลุ่มซอฟต์พาวเวอร์

สำหรับ THACCA จะสนับสนุนอุตสาหกรรม 11 กลุ่ม ที่กำหนดใน พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 1.การจัดงานเทศกาล 2.การท่องเที่ยว 3.กีฬาและการแข่งขัน 4.เกมอิเล็กทรอนิกส์และอีสปอร์ต 5.งานแฟชั่น งานอัญมณี งานประดิษฐ์เครื่องสำอาง 6.งานออกแบบสถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ กราฟิก

7.ดนตรี 8.ภาพยนตร์แอนิเมชัน ละคร การแสดงรายการโทรทัศน์ 9.ศิลปะและศิลปะการแสดง 10.หนังสือ วรรณกรรม การ์ตูนสื่อสิ่งพิมพ์ 11.อาหารและเครื่องดื่ม 

รวมทั้งจะมีการกำหนดประเภทอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์เพิ่มเติม ในขณะที่ความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้ และจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งกลับมายัง ครม. 

เตรียมเสนอ ครม.เคาะร่างกฎหมาย

หลังจากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดขึ้นอีกครั้งในเดือน มิ.ย.2567 และคาดว่าจะผ่านทั้ง 3 วาระ ในปี 2567 จากนั้นจะเข้าสู่ชั้นของวุฒิสภาในเดือน ม.ค.2568 และคาดว่าหากผ่านในชั้นของวุฒิสภาจะประกาศใช้ พ.ร.บ.เพื่อจัดตั้งองค์กรได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้ระบุถึงประเทศไทยมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมเข้มแข็งและมีทรัพยากรบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทุนสำคัญที่ใช้ในการสร้างมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรม และขยายฐานเศรษฐกิจและฐานรายได้ใหม่ให้ประเทศ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ จึงสมควรกำหนดให้มีกลไกและมาตรการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

หนุนแข่งขันธุรกิจ‘ซอฟต์พาวเวอร์’เสรี

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้ระบุให้ภาครัฐจัดให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการตาม 4 หลักการ ดังนี้

1.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของประเทศให้มีความหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ รวมทั้งแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ โดยต้องไม่แทรกแซงเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพ

2.สนับสนุนการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้สอดคล้องความต้องการในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยต้องคำนึงถึงการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

3.จัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างมียุทธศาสตร์ โดยต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ผูกขาดและการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงแหล่งทุนภาครัฐ และต้องป้องกันมิให้มีความซ้ำซ้อนในการจัดสรรเงินของหน่วยงานของรัฐ

4.สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและทางความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในระดับประเทศ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...