ESG เทรนด์โลก หรือแค่กระแสตื่นตูม

ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะผลกำไรและการลดต้นทุน อาจไม่ตอบโจทย์กับบริบทของโลกยุคปัจจุบันและยุคต่อจากนี้ได้อีกต่อไป ธุรกิจจึงจำเป็นจะต้องหาทางรอดและปรับตัวเพื่อให้สามารถเติบโตไปได้อย่างเกื้อกูลแก่ทุกฝ่ายและสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน

จึงเป็นที่มาของกรอบแนวคิด ESG เพื่อใช้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental : E) มิติสังคม (Social : S) และมิติธรรมาภิบาล (Governant)

มาทำความรู้จัก ESG กันสักนิด ESG ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่กำไรจากผลประกอบการและการเติบโตทางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างครอบคลุมทั้ง 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่

E - Environmental เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการดำเนินธุรกิจย่อมมีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุดและส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

ตัวอย่างการพิจารณาเกี่ยวกับ E - Environmental ด้านสิ่งแวดล้อม จะคำนึงถึงการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การปล่อยมลพิษและการควบคุมคุณภาพอากาศ การใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดของเสีย เป็นต้น

S - Social เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกับลูกจ้าง suppliers ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อย่างไร เพราะธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องย่อมมีแนวโน้มว่าธุรกิจราบรื่น โดยอาจสะท้อนได้จากสวัสดิการแรงงาน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

ตัวอย่างการพิจารณาเกี่ยวกับ S - Social ด้านสังคม จะคำนึงถึงในแง่ความสัมพันธ์กับพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชน เช่น การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม ความปลอดภัยในการทำงาน ความเสมอภาคในการจ้างงาน การให้สวัสดิการด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา และที่อยู่อาศัย ฯลฯ

G - Governance เป็นหลักเกณฑ์ในด้านธรรมาภิบาล เรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินงานของธุรกิจ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและการตรวจสอบเพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของธุรกิจทั้งหมด โดยทุกขั้นตอนการดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ 

ตัวอย่างการพิจารณาเกี่ยวกับ G - Governance ด้านธรรมาภิบาล จะคำนึงถึงการควบคุมความเสี่ยง สิทธิของผู้ถือหุ้น และมาตรฐานของผู้บริหาร เช่น จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ความโปร่งใสทางบัญชี ความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริษัท การใช้สิทธิออกเสียง ค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงาน เป็นต้น

วิวัฒนาการ 4 ยุค จาก CSR มาสู่ ESG

เมื่อพูดเรื่อง ESG หลายท่านอาจไม่รู้ว่า วิวัฒนาการกว่าจะมาถึง ESG การเปลี่ยนแปลงเรื่องธุรกิจและสิ่งแวดล้อมในบ้านเรานั้นแบ่งออกเป็น 4 ยุคหลักๆ ด้วยกัน

- ยุคแรกเริ่มต้นด้วย CSR Corporate Social Responsibility โดยหลักการของ CSR แรกเริ่มเดิมทีเป็นเรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคม เช่นออกมาปลูกป่าชายเลน หรือ บริจาคแจกทุนตามโรงรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อพัฒนาถึงจุดหนึ่งก็เข้าสู่

- ยุคที่สอง ISO 2600  ที่เข้มข้นขึ้น โดยปี 2010 ทาง ISO ได้ออกมาประกาศสิ่งที่เรียกว่า ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรทั้งหลาย ภายใน ISO 26000 ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 7 ข้อหลัก ด้วยกันคือ การกำกับดูแลองค์กร, สิทธิมนุษยชน, การปฏิบัติด้านแรงงาน, สิ่งแวดล้อม, การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม, ประเด็นด้านผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน จนเข้าสู่

- ยุคที่สาม SDG Sustainability Development Goal ปี 2015 สหประชาชาติได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainability Development Goal 17 ข้อ โดยแบ่งเป้าหมาย 17 ข้อ ออกเป็น 5 กลุ่มคือ ด้านมิติของสังคม, มิติด้านเศรษฐกิจ, มิติด้านสิ่งแวดล้อม, มิติด้านสันติภาพและสถาบัน และ มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา จึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจ

- ยุคที่สี่ ESG เริ่มมีบทบาทสำคัญกับองค์กรธุรกิจในประเทศไทย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ในรายงานของบริษัทที่ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ มีการจัดอันดับหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน Thailand Sustainability Investment (THSI) ติดต่อกันมาหลายปี รวมถึงการจัดอันดับความยั่งยืนของสถาบันต่างประเทศ เช่น Dow Jones, MSCI, S&P เป็นต้น ประกอบกับเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นที่ได้รับการให้ความสำคัญในระดับโลก

ESG ไม่ใช่แค่กระแสแต่เป็นทางรอดธุรกิจยุคใหม่

ESG ไม่ใช่กระแสที่มาแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป แต่เป็นสิ่งที่จะเข้ามาเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ เพื่อให้โลกอยู่ได้ ธุรกิจอยู่ได้ ซึ่ง ESG เป็นกรอบการบริหารจัดการที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ Environment การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม, Social การจัดการด้านสังคม และ Governance การจัดการด้านธรรมาภิบาล

ESG จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ถึงขั้นระบุเป็นนโยบาย และข้อบังคับใช้ในการทำธุรกิจ การทำ ESG สิ่งสำคัญไม่ใช่ Why หรือ What แต่เป็น How และ When ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น ซึ่งได้กลับมาที่ธุรกิจ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินและมูลค่าระยะยาวให้กับบริษัทได้ ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกก็ใช้ ESG พิจารณาประกอบการลงทุน เพื่อประเมินความยั่งยืน และความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัท 

ดังนั้น ในเรื่องของ When คือ 'เริ่มได้เลย' ในสิ่งที่ทำได้ก่อน เช่น การตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพื่อลดปริมาณคาร์บอน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี ต้นไม้ถึงจะดูดซับคาร์บอนได้ และต้องระบุเป็นจำนวนต้นที่ปลูก ถึงจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขจริงได้ การจะนำมาใช้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการทำ ESG ในปีนี้ แสดงว่าต้องมีการวางแผน และเริ่มปลูกต้นไม้มาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นต้น

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...