‘ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว’ อยากเข้าตลาดหุ้น เพราะกลัวลูกจะฆ่ากันตาย

มูลค่าตลาดสตรีทฟู้ดบ้านเราเพิ่มขึ้นแทบทุกปี โดยในปี 2566 มีการประเมินว่า อาจขึ้นไปแตะถึง “300,000 ล้านบาท” จึงไม่แปลกที่ธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะสตรีทฟู้ดจะคึกคัก ทั้งฝั่งผู้เล่นในสนาม หรือ “ผู้ขาย” รวมถึงผู้บริโภคเองก็ให้การตอบรับที่ดีเช่นกัน นี่จึงเป็นที่มาในการปักธงเคลื่อนทัพของ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ร้านบะหมี่รถเข็นสีเหลืองสะดุดตาที่มาพร้อมโลโก้ผู้ชายสี่คน จากการเติบโตผ่านสินค้าประเภทเส้น สร้างรายได้-แตกหน่อแฟรนไชส์ออกไปแล้วมากกว่า 4,500 รถเข็นทั่วประเทศ

มาวันนี้ “พันธ์รบ กำลา” ผู้ก่อตั้งชายสี่บะหมี่เกี๊ยว และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มทรานสฟอร์มธุรกิจไปยังโปรดักต์อื่นๆ ในตลาดอาหารอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น “ชายใหญ่ข้าวมันไก่” “พันปีบะหมี่เป็ดย่าง” “อาลีหมี่ฮาลาล” และ “ไก่หมุนคุณพัน” ทั้งยังตั้งใจที่จะกว้านซื้อแบรนด์ดังอื่นๆ มาเติมพอร์ตอีกหลายสิบแบรนด์ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ก่อตั้งจะประกาศกร้าวว่า เป้าหมายหลังจากนี้ คือการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน แต่เหตุผลแรกสุดในการยื่นไฟลิ่งกลับมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากความคิดที่ “พันธ์รบ” กลัวว่า ลูกๆ จะฆ่ากันตาย เพราะเรื่องธุรกิจชายสี่ฯ ที่ตนเป็นคนก่อร่างมากับมือตั้งแต่ปี 2535

ขายชามละ 10 บาท มีเงินเก็บ 7 แสน ดังจนมีคนโทรมาขอซื้อแฟรนไชส์

“ผมเริ่มขายบะหมี่ครั้งแรกตั้งแต่ทองบาทละ 4,000” พันธ์รบ กำลา เล่าถึงช่วงตั้งไข่ธุรกิจในฐานะพ่อค้าร้านบะหมี่ริมทางเมื่อ 31 ปีก่อนหน้า เขาไม่ได้มีความรู้เรื่องกำไร-ขาดทุน และการขยายสาขาผ่านโมเดลแฟรนไชส์ตั้งแต่เริ่ม “พันธ์รบ” เหมือนกับคนหาเช้ากินค่ำทั่วๆ ไป ที่ขายอาหารด้วยรถเข็นบะหมี่หนึ่งคันบริเวณแยกลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

หากเปรียบเทียบเป็นนักฟุตบอล ก็นับว่า อาชีพพ่อค้าขายบะหมี่ “เข้าข้อ” พันธ์รบอย่างมาก เพราะขายได้เพียง 2 ปี ก็มีเงินเก็บราว “700,000 บาท” ในยุคนั้นราคาก๋วยเตี๋ยวต่อชามอยู่ที่ 10-15 บาท ขายดีจนมีรายได้สูงสุดถึง 6,000 บาทต่อวัน เมื่อมีเงินเก็บมากพอ “พันธ์รบ” ก็คิดอยากทำเส้นบะหมี่ด้วยตัวเอง เนื่องจากเส้นที่รับมาเริ่มไม่ได้มาตรฐาน บางวันเส้นเหนียว บางวันเส้นขาด จึงติดต่อซัพพลายเออร์ที่มาส่งวัตถุดิบทุกวัน เพื่อซื้ออุปกรณ์ในการทำบะหมี่ด้วยตัวเอง

ความเหนียวนุ่มของบะหมี่ชายสี่ทำให้สามารถขยายสาขาออกไปได้มากขึ้น กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ ส่งให้ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เป็นที่รู้จักทั่วประเทศภายในชั่วข้ามคืน

“เราเริ่มติดต่อสอบถามคนมาส่งเส้นว่า ซื้อเครื่องจักรที่ไหน อย่างไร จากนั้นจึงไปซื้อเครื่องทำเส้นมาในราคา 230,000 บาท พอผลิตเส้นได้เองก็แนะนำ-บอกต่อให้คนแถวบ้านมาเปิดร้านขายด้วย จากของเราสาขาเดียวก็เพิ่มเรื่อยๆ จนครบ 210 สาขา ได้ไปออกรายการ “เกมแก้จน” ของคุณปัญญา นิรันดร์กุล ตอนปี 2540 ปรากฏว่า เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ มีคนโทรติดต่อเข้ามาว่า อยากนำชายสี่ฯ ไปขาย ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้จักคำว่า แฟรนไชส์ แม้กระทั่งตัวผมเองก็ไม่เข้าใจว่า แฟรนไชส์คืออะไร”

“พันธ์รบ” มองว่า นอกจากการขยายธุรกิจผ่านแฟรนไชส์แล้ว มุมมองและทัศนคติของคนขาย คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เติบโต ตนถือคติ “คนกินคือเจ้านาย คนขายคือลูกจ้าง” เป็นสโลแกนประจำตัวในฐานะพ่อค้าขายบะหมี่มาโดยตลอด ต้องใส่ใจดูแลลูกค้า และมีความละเอียดในการปรุงบะหมี่แต่ละชาม สิ่งเหล่านี้จะทำให้สินค้าขายดี

-พันธ์รบ กำลา ผู้ก่อตั้งชายสี่บะหมี่เกี๊ยว และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด-

แค่บะหมี่ยังไม่พอ เป้าต่อไป คือ “สตรีทฟู้ดเบอร์ 1”

“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ปักธงเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยมีการทำงานและสารพัดกลยุทธ์ที่ทำหน้าที่เสริมสรรพกำลังหลายส่วน อย่างการแตกไลน์ร้านรถเข็นอาหารประเภทอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมสตรีทฟู้ดยอดนิยมของคนไทย อาทิ ร้านข้าวมันไก่ ร้านไก่ย่าง ร้านโจ๊ก-ต้มเลือดหมู ร้านบะหมี่ฮาลาล ฯลฯ ก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะพาบริษัทเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

อีกส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาและจะได้เห็นกันภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 คือ แบรนด์ “ชายสี่พลัส” โมเดลร้านคีออส (Kiosk) ที่จะเข้ามาอุดช่องโหว่ในเซกเมนต์ “ตลาดบน” เน้นเมนูอาหารหน้าตาสวยงาม เมื่อผู้บริโภคเห็นแล้วต้องอยากถ่ายรูปลงโซเชียล มีเดีย

“อัปสร บุญเจริญ” Country Lead: Business Development และ “เศรษฐศิษฏ์ รุ่งเจริญพร” Country Lead: Internal Audit ทีมพัฒนาโปรดักต์ “ชายสี่พลัส” ให้ข้อมูลว่า แบรนด์ต้องการให้มีคนช่วยตะโกน-บอกต่อ ผ่านรูปร่างหน้าตาอาหารที่มีความ “เซ็กซี่” มากขึ้น เชื่อว่า “ชายสี่พลัส” จะมีส่วนช่วยติดสปีด ดันกลุ่มชายสี่ฯ โตไวมากขึ้น จากจุดขายที่แตกต่างไปจากโปรดักต์ดั้งเดิม

“เราคิดว่า มันมีอีกเซกเมนต์ที่ผู้บริโภคจ่ายในราคา 70 บาทขึ้นไปได้ เราก็เลยทำเพื่อให้เขารู้สึกว่า คุ้มค่ามากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในแกนที่ไม่ได้ “Overprice” จนเกินไป แผนเบื้องต้นตอนนี้จะมีทั้งหมด 5 จุด อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ ถ้าดูจากลักษณะเนื้อสัตว์ของ “ชายสี่พลัส” จะเห็นว่า ค่อนข้างแตกต่างจากหมูแดงของร้านชายสี่ฯ ดูพรีเมียมกว่า ชิ้นใหญ่และหนากว่า เพราะจะให้ไปเปลี่ยนใจลูกค้ากลุ่มเดิมมาซื้อราคาแบบ “ชายสี่พลัส” ก็อาจจะไม่ได้ โมเดลนี้จึงเน้นไปที่อาคารสำนักงานใจกลางเมืองเป็นหลัก” อัปสร กล่าว

-สินค้าแบรนด์ “ชายสี่พลัส” เตรียมเปิดร้านแรกภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566-

นอกจากการปั้นแบรนด์ของตัวเอง “กลุ่มชายสี่ฯ” ยังเร่งเครื่องด้วยการซื้อกิจการเข้ามาเติมพอร์ต ถือหุ้นใหญ่ 51% ขึ้นไป ขณะนี้มีด้วยกันสองเจ้า คือ “ก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยา เสือร้องไห้” และ “BRIX dessert bar” เบเกอรีน้องใหม่มาแรงที่ปัจจุบันมีแล้ว 3 สาขา ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามาช่วยเติมพอร์ตปีกเบเกอรีให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

“อนุชิต สรรพอาษา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ภายในปีนี้จะได้เห็น “แบรนด์เพื่อนบ้าน” เข้ามาเติมพอร์ตเพิ่มอีก 5 ถึง 10 แบรนด์ ซึ่งในอนาคตก็จะไม่หยุดอยู่เท่านี้แน่นอน ชายสี่ฯ ยังมีความต้องการอีกมาก ทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่ง ขนมหวาน ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทจะถือหุ้นใหญ่ และไม่ซื้อขาดกิจการจากเจ้าของ เพราะต้องการให้โตไปพร้อมกัน ด้วยเป้าหมายการใช้นามสกุล “มหาชน”

“เราต้องการทรานสฟอร์มตัวเองเพื่อวิ่งให้ได้ เพื่อที่จะได้ใช้นามสกุลมหาชนในเร็วๆ นี้ จากที่เคยบอกว่าเราเป็น “เจ้าแห่งเส้น” จะเปลี่ยนเป็น “เจ้าแห่งสตรีทฟู้ด” เรามั่นใจว่า ไปถึงตรงนั้นได้แน่ๆ แต่จะทำอย่างไรให้คนเชื่อว่า เราเป็น “สตรีทฟู้ดมหาชน” ได้จริงๆ ตรงนี้ก็จะกลับมาหาเรื่องการขยายธุรกิจ การทำโปรดักต์ การทำเซอร์วิสในอนาคต ที่ไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ผู้ผลิต แต่ยังมองไปถึงเรื่อง End-to-End ในการทำสตรีทฟู้ดด้วย”

ฝันอยากได้ “หมื่นล้าน” อีก 3 ปี ต้องมีรายได้จากต่างประเทศ 20%

ตัวเลขผลประกอบ “บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2566 ยังคงรักษาระดับรายได้ที่ “หลักพันล้าน” ไว้ได้ รายได้รวมอยู่ที่ “1,117 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “125 ล้านบาท” เป็นครั้งแรกที่บริษัทมีกำไร “หลักร้อยล้าน” เติบโตจากปี 2565 กว่า 121% ภาพรวมจึงเป็นตัวเลขที่มีแนวโน้มไปในทิศทางบวก แต่ถึงอย่างนั้นก็นับว่า ยังห่างไกลจากตัวเลขในใจของ “พันธ์รบ” หลายก้าว

เขาเคยระบุว่า ต้องการเห็นชายสี่ฯ ไปให้ถึงหมื่นล้าน ซึ่งครั้งนี้ “พันธ์รบ” ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นการตั้งเป้าที่ต้องมีตัวเลขสูงเข้าไว้ เป้าหมายไม่สามารถตั้งน้อยได้เพราะจะทำให้ขาดความกระตือรือร้น ประกอบกับระหว่างปี 2562 ถึง 2565 บริษัทเจอพายุโหมกระหน่ำจากวิกฤติระบาดใหญ่ ถามว่า อยากได้ “หมื่นล้าน” หรือไม่ ยังเป็นเป้าหมายเช่นนั้นดังเดิม ซึ่งการจะไปถึงเป้าตรงนั้นได้ก็มาจากแผนการทำงานระหว่างทางในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากการทรานสฟอร์มที่ทำให้เห็นว่า ชายสี่ฯ มาถูกทางแล้ว

นอกจากตลาดในประเทศ หลังจากนี้เราจะได้เห็น “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ออกไปสยายปีกนอกราชอาณาจักรกันบ้าง เริ่มที่ “ฟิลิปปินส์” เป็นแห่งแรก ที่มีการสร้างโรงงานเสร็จเรียบร้อย พร้อมสำหรับการผลิตเส้นในเฟสแรก “อนุชิต” ระบุว่า ตอนนี้เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีรถเข็นเพียงหลักหน่วยเท่านั้น โดยปีที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากนัก เพราะเป็นช่วงที่ใช้เวลาไปกับการ “ซ่อมบ้าน” เพื่อทำให้การดำเนินงานในภาพรวมดีขึ้น แต่หลังจากนี้จะได้เห็นความเคลื่อนไหวในส่วนของสาขาที่กระจายออกไป รวมถึงประเทศอื่นๆ อย่าง “กัมพูชา” ก็ด้วย

ในระยะยาวอีก 2 ถึง 3 ปี “อนุชิต” ตั้งเป้าต้องมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศราว 20% และยังตั้งใจนำเข้าแบรนด์จากต่างประเทศมาเติมพอร์ตร่วมด้วย เส้นทางสู่การใช้นามสกุลมหาชนของว่าที่บริษัท “หมื่นล้าน” จึงน่าจะมีกลยุทธ์หลักๆ สามส่วนด้วยกัน คือเร่งขยายแบรนด์ของตัวเอง ซื้อแบรนด์อื่นๆ มาบริหารในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เน้นที่ประเทศเพื่อนบ้านก่อน ส่วน “ญี่ปุ่น” ก็อยู่ในแผน มีการพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ในการผลิตรูปแบบ “คัพไซซ์” อนาคตเราจะได้เห็น “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ในซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นกัน

แฟรนไชส์ขยายเยอะ “รสชาติไม่ตรงปก” ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

ในขณะที่กำลังเร่งติดสปีดขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น โตขึ้น โจทย์สำคัญที่ผู้บริหารยอมรับว่า ยังมีอยู่ และต้องแก้กันต่อไป คือการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างบริษัทและแฟรนไชส์ซี หลายครั้งที่ “พันธ์รบ” ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับร้านค้า และพบว่า บางร้านมีมาตรฐานในใจของตัวเอง บ้างก็ใส่เส้นมากกว่ากำหนด ใส่เนื้อสัตว์ไม่ตรงตามมาตรฐานของบริษัท ทำให้ร้านเหล่านี้ได้กำไรน้อยลง

เรื่องพวกนี้ต้องกลับไปคุยกับร้านค้าใหม่ทั้งหมด จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเกิดผลกำไร ทำอย่างไรให้รสชาติเสถียร บางร้านมีรายได้ “หลักแสนบาท” ต่อเดือน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เป็นอีกภารกิจของบริษัทที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย

“เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราต้องแก้ให้จบ เป็นอีกเหตุผลที่เราต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนแล้วจะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับแฟรนไชส์ ที่ผ่านมา หากสาขาไหนไม่ดี ไม่เหมือนชาวบ้าน เขาจะตายไปโดยธรรมชาติเลย ผู้บริโภคจะลงโทษสาขานั้นเอง ผมเชื่อว่า ยิ่งเรามีทุน เราจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ไม่น้อย” พันธ์รบ กล่าวปิดท้าย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...