‘ITD’ บริหาร ‘แบ็คล็อค’ ฝ่าวิกฤติ จับมือ ‘เจ้าหนี้‘ แก้ปัญหา ยันบริษัทไม่ล้ม

สิ้นสุดการรอคอย ภายหลังบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD รายงานงบการเงินของปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าขาดทุนสุทธิ 1,072 ล้านบาท ลดลง 77% จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท โดยสาเหตุจากรายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง 56,936 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2,719 ล้านบาท 

ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการก่อสร้างของโครงการที่ใกล้แล้วเสร็จ รวมถึงการปรับปรุงรายได้จากการให้บริการก่อสร้างเนื่องจากต้นทุนการให้บริการรับเหมาก่อสร้างบางรายการ ยังไม่ส่งมอบบริการให้ลูกค้าทำให้ไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง และปรับปรุงต้นทุนดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ต้นทุนการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญา ส่วนรายได้จากการขายและให้บริการ ลดลง 986 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลดลงของรายได้จากการให้บริการโครงการเหมืองแร่

ขณะที่กำไรขั้นต้น 3,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2566 เท่ากับ 6.26% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 4% เพราะกำไรเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อยบางแห่ง รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนจากการให้บริการก่อสร้างในต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากงบการเงินปี 2566 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทตรวจสอบและรับรองงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการของกลุ่มบริษัท โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ได้พิจารณาสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท

ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 ระบุว่า สำหรับปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2566 กลุ่มบริษัทขาดทุนหลังภาษี 421.54 ล้านบาท และ 194.87 ล้านบาท ตามลำดับ มีขาดทุนสะสม 6,426.67 ล้านบาท และ 5,390.66 ล้านบาท ตามลำดับ (2565 : 4,475.58 ล้านบาท และ 3,622.58 ล้านบาท) อีกทั้งมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 26,711.54 ล้านบาท และ 29,977.68 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้น จากตั๋วสัญญาใช้เงิน และทรัสต์รีซีต/เลตเตอร์ออฟเครดิต และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น หุ้นกู้และหุ้นกู้ที่ถูกจัดประเภทเป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ณ วันที่ 31ธ.ค.2566 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งคำนวณจากงบการเงินรวมที่ถูกกำหนดในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินบางแห่ง 

การผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ดังกล่าวข้างต้น แบงก์มีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม ทั้งนี้ แบงก์ไม่ได้ดำเนินการลักษณะดังกล่าวและได้รับหนังสือจากแบงก์ให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขในวันที่ 29 ก.พ.2567 และ 18 มี.ค.2567

แม้กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนงานธุรกิจและกลยุทธ์การเงินเพื่อให้เชื่อมั่นว่าจะมีสภาพคล่องเพียงพอและชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง แต่ปัจจัยด้านสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทขึ้นกับการเรียกใช้สิทธิเรียกให้ชำระคืนเงินกู้ยืมของแบงก์และหุ้นกู้ 

อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว การจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมเพื่อใช้ดำเนินงาน การปรับปรุงแผนธุรกิจและการดำเนินงานในอนาคต และความสามารถในการจ่ายชำระเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ได้ตามวันครบกำหนดใหม่ 

รวมถึงการสนับสนุนของวงเงินสินเชื่อต่อเนื่อง และเจราจาเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการลงทุนหลายโครงการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายประการ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะกระทบงบการเงินเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท 

“ไอทีดี” เปิด 4 แนวทางเรียกเชื่อมั่น 

ทั้งนี้ บริษัทกำลังดำเนินการตามแผนการธุรกิจและกลยุทธ์ทางการเงิน เพื่อให้เชื่อมั่นได้กลุ่มบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอและชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง โดยมีแนวทางดำเนินการสำคัญ ดังนี้

1.วันที่ 17 ม.ค.2567 ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่น ได้แก่ ITD242A , ITD24DA ,ITD254A , ITD266A และ ITD24DB ซึ่งยอดเงินต้นค้างชำระรวม 14,445 ล้านบาท โดยที่ประชุมอนุมัติขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นไป 2 ปี นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม 

รวมถึงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอื่น โดยเมื่อขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นออกไปอีก 2 ปีนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมแล้ว หนี้สินหมุนเวียนที่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี ในไตรมาส 1 ปี 2567 จะลดลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น ได้มีมติอนุมัติผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยมีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2566 จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใดๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ

เจรจาแบงก์ขอสินเชื่อระยะสั้น-ยาว

2.ขอผ่อนผันเงื่อนไขการดำรงสัดส่วนทางการเงินกับแบงก์บางแห่ง และได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแล้ว โดยได้รับหนังสือแจ้งอนุโลมการปฏิบัติเงื่อนไขดังกล่าววันที่ 29 ก.พ.2567 และวันที่ 18 มี.ค.2567 จากการไม่สามารถดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าว แบงก์มีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม แต่แบงก์ไม่ได้ดำเนินการลักษณะดังกล่าว

ดังนั้น การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำรงสัดส่วนการเงินจึงไม่เป็นเหตุให้บริษัทปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญากู้ยืมเงินกับแบงก์ โดยจะจัดการปัญหาการขาดสภาพคล่องที่กำลังเจรจาข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลัก เพื่อขอรับสนับสนุนสินเชื่อทั้งระยะสั้นและยาว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ได้ทยอยรับสินเชื่อบางส่วนแล้ว โดยบริษัทและกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลักจะตกลงเรื่องสัญญาการให้สินเชื่อจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยเพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อได้

3.อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบทำงานและระบบควบคุมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน และมีกำไรจากผลการดำเนินงาน โดยกำหนดเป้าหมายชัดเจนและรายงานผลประจำทุกเดือน และมีแผนขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดภาระหนี้

4.เชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสที่จะได้รับงานโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐและเอกชนกำลังประกาศจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก  เพราะมีประสบการณ์และผลงานในอดีตที่แข่งขันได้ทุกประเภท ดังนั้นหากบริษัทได้รับงานโครงการก่อสร้างจากรัฐและเอกชนจะสร้างรายได้ต่อเนื่อง

เงื่อนไข“แบงก์”ช่วยบริหารรายโครงการ

แหล่งข่าวจาก ITD กล่าวว่า การแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องของ ITD ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ปัญหา โดยความช่วยเหลือของธนาคารเจ้าหนี้ของ ITD ซึ่งคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เห็นชอบให้บริหารงานด้านการเงินผ่านคำแนะนำจากคณะทำงานที่ธนาคารที่เจ้าหนี้แต่งตั้งมาช่วยบริหาร 

ทั้งนี้ธนาคารเข้ามาช่วยบริหารเป็นลักษณะการบริหารการเงินเป็นรายโปรเจ็กต์ เพื่อให้กระแสเงินสดที่เข้ามาในบริษัทจ่ายออกไปยังผู้รับเหมารายย่อยที่ ITD ว่าจ้าง เพื่อให้โครงการดำเนินการได้ต่อเนื่อง และส่งมอบงวดงานได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องเข้ามาต่อเนื่อง และทำให้ผ่านวิกฤติช่วงนี้ได้

ยืนยันไม่ถึงขั้นฟื้นฟูกิจการ

แหล่งข่าว กล่าวถึงสถานการณ์ ITD ปัจจุบันจำเป็นต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ว่า ITD ยังสามารถบริหารต่อได้ โดยยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการบริหารงานใน ITD ขณะนี้มีการบริหารบางส่วนจากธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งได้ออกกฎเกณฑ์ในการจัดลำดับการใช้จ่าย การลดต้นทุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน โดยต้องรัดเข็มขัดมากที่สุดเพื่อให้นำเงินที่ได้รับมาบริหารธุรกิจหลักบริษัท

ทั้งนี้การขาดสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาทั้งการได้รับค่างวดงานช้าจากการก่อสร้างที่ถูกเลื่อนหลายโครงการช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับปัญหางบประมาณล่าช้า บวกกับอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้การทำธุรกิจที่ผ่านมาไม่ง่าย แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังจากแก้ปัญหาตรงนี้มีธนาคารเข้ามาช่วยดูการบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสดเพื่อให้ ITD ดำเนินโครงการตาม Backlog ที่มีอยู่ได้

“ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้คงไม่ปล่อยให้เราล้ม ตอนนี้ก็ทำงานร่วมกันเขาในฐานะเจ้าหนี้ก็ให้คนเข้ามาช่วย เชื่อว่าเขาไม่ปล่อยให้เราล้ม เพราะถ้าล้มไปหนี้ก็สูญไปด้วย ธนาคารแต่ละแห่งก็ไม่อยากที่จะสูญหนี้ในส่วนนี้จึงเข้ามาช่วยให้เราทำงานได้สามารถที่จะจ่ายดอกเบี้ย และจ่ายคืนเงินต้นได้”แหล่งข่าว กล่าว

มั่นใจ“ไอดีที”ผ่านวิกฤติไปได้

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งถือว่าหนัก เพราะตอนนั้นมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และเมื่อค่าเงินบาทถูกลอยตัว ส่งผลให้หนี้ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ในตอนนั้นแทบทุกบริษัทในวงการรับเหมาก่อสร้างโดนกันหมดแต่ ITD ก็ผ่านมาได้ ซึ่งในครั้งนี้ก็มั่นใจว่าจะผ่านไปได้แต่อาจต้องใช้เวลามากหน่อย

สำหรับปัญหาการขาดสภาพคล่องของ ITD เป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ในอดีต โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาบริษัทมีการไปลงทุนโดยการใช้เงินจำนวนมากในต่างประเทศ เช่น เมียนมา อินโดนิเซีย มาดาร์กัสกา เป็นต้น 

ทั้งนี้การลงทุนมีมุมมองว่าการลงทุนในการเป็นผู้พัฒนาโครงการ (Developer) พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มองว่าเป็นอนาคตของบริษัทแต่แทบทุกโครงการที่เข้าไปลงทุนนั้นไม่มีผลตอบแทนในรูปตัวเงินกลับมา

ส่วนโครงการที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุด คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทเข้าไปลงทุนหลักหมื่นล้านบาท และโครงการนี้ในปัจจุบันไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้เลย เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่สงบในเมียนมา แม้แต่จะนำเอาเครื่องจักรและอุปกรณ์ออกมาจากพื้นที่ก็ยังทำไม่ได้ 

รวมทั้งในอนาคต ITD คงไม่เข้าไปลงทุนในธุรกิจแบบนี้ในต่างประเทศอีกแล้ว เพราะบริหารความเสี่ยงได้ยาก โดยในแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเมืองและนโยบายของแต่ละรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...