วังวนเศรษฐกิจไทยในปัญหาเชิงโครงสร้าง | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านพ้นสภาวะวิกฤตระยะสั้นมาได้แล้ว แต่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกลับเผชิญกับวิกฤตเชิงโครงสร้าง ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยมีอนาคตที่ไม่สดใสมากนัก

วิกฤตเชิงโครงสร้างที่สามารถเห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และมีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำและมีความเหลื่อมล้ำสูงนั้นอาจมีนัยว่าคนจำนวนมากในประเทศนี้ (โดยเฉพาะคนรายได้น้อย) มีโอกาสน้อยลงที่จะสามารถลืมตาอ้าปากยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นได้

ในงานนี้ผู้เขียนในฐานะ ผู้สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิด (อีกแล้ว) จึงจะขอหยิบยกเนื้อหาบางส่วนจาก เสวนา “สำรวจภูมิทัศน์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยตอนที่ 2 : เศรษฐกิจไทย ปัญหาเก่าในวิกฤตใหม่" (จัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 26 มีนาคม 2567)”

เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า สถานการณ์วิกฤตเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร? สาเหตุน่าจะเกิดจากอะไร? และเราจะมีความหวังในการออกจากปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ได้หรือไม่?

เริ่มต้นจากสถานการณ์วิกฤตเชิงโครงสร้าง จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำนั้น ทุกภาคส่วนในสังคมต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างเมื่อหลายทศวรรษก่อนอีกแล้ว

โดยอัตราการเติบโตในปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 2% ต่อปี ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนที่โตอยู่ที่ประมาณ 5-8% ต่อปี

อัตราการเติบโตที่ต่ำแตกต่างจากยุคก่อนหน้าอย่างชัดเจนเช่นนี้เอง ที่ภาคการเมืองมองว่าประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ!!

ในด้านความเหลื่อมล้ำนั้น อาจารย์ชญานี (ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์) ชี้ว่าถึงแม้ในภาพใหญ่อัตราความยากจนและอัตราความเหลื่อมล้ำของไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยยังมีประเด็นที่น่ากังวลในหลายมิติ ได้แก่ 

1. กลุ่มรายได้น้อยมักจะกระจุกตัวอยู่พื้นที่ชนบท หรืออยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (หรืออยู่ในทั้งคู่) โดยมักมีการศึกษาต่ำ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการ 

2. สัดส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มยากจนโตเร็วกว่ากลุ่มอื่น (โดยเฉพาะในภาคเกษตร) ในอนาคตสังคมไทยมีแนวโน้มจะเต็มไปด้วยประชากรที่แก่และจน 

3. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ส่งผ่านมาสู่รุ่นลูกมากขึ้น (โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย) ส่งผลให้การเลื่อนฐานะทางชนชั้นของคนรุ่นลูกยากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้า และมีความเหลื่อมล้ำสูง เป็นผลมาจาก 1. ระบบเศรษฐกิจที่มีทุนผูกขาด 2. ภาครัฐขาดศักยภาพในการจัดการปัญหา

ในส่วนของภาครัฐนั้น อาจารย์แบ๊งค์ (ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ) ชี้ว่าภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับการสร้างการเจริญเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด โดยเมื่อดูจากแผนภาครัฐที่มักให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” “ความสามารถในการแข่งขัน” และ “การพัฒนาอย่างทั่วถึง” แต่ที่ผ่านมา 

1. ภาครัฐขาดกลไกที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนตามแผน เช่น การส่งเสริมการลงทุน มีเพียง 38% ของมูลค่าการลงทุนเท่านั้นที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ งบประมาณเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันก็ถูกใช้ไปลงทุนกับการสร้างถนนเป็นส่วนมาก 

2. ภาครัฐไม่สามารถเชื่อม FDI ให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการจ้างงานที่มีคุณภาพได้ โดยการลงทุนจากต่างประเทศในไทยยังใช้ซัพพลายเยอร์สัญชาติไทยในสัดส่วนที่ต่ำ นอกจากนี้ลักษณะตลาดแรงงานไทยยังเน้นจ้างงานวุฒิการศึกษาต่ำ ซึ่งมักจ่ายค่าจ้างต่ำ

 3. ขาดกลไกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยภาคเกษตรยังมีสัดส่วนที่สูงอยู่ ทั้งที่ภาคเกษตรสร้างมูลค่าต่ำ 

อาจารย์แบ๊งค์ มีคำแนะนำว่าภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโตช้าและเหลื่อมล้ำสูงโดย 

1. ต้องสร้างยุทธศาสตร์ Good Job Economy โดยเน้นให้เติบโตด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มีรายได้มั่นคง และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 

2. ต้องสร้างกลยุทธ์แบบ Mission Oriented เอาความท้าทายมากำหนดยุทธศาสตร์ และผลักดันให้องคาพยพทั้งหมดดำเนินการภายใต้เป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการขยับและขยายพร้อมกันทีเดียวหลายสัดส่วน โดยส่งเสริมทรัพยากรอย่างเหมาะสม และสร้างกรอบเวลา 

3. ต้องยกระดับขีดความสามารถภาครัฐด้วย

 กล่าวโดยสรุปปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยทั้งการเจริญเติบโตที่ต่ำและเหลื่อมล้ำสูงเป็นผลมาจาก โครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจุกตัว และความไร้ศักยภาพของภาครัฐ ซึ่งหากภาครัฐสามารถ 

1. เป็นอิสระจากการควบคุมโดยกลุ่มทุน และสร้างกลไกการกำกับควบคุมป้องกันอำนาจเหนือตลาดได้ 

2. ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ตอบโจทย์เป้าหมาย (Mission) ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่าง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างงานที่ดี และเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไว้ด้วยกันได้ 

ประเทศไทยก็อาจจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างได้ในระยะยาว.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...