ทิศทางเงินฝากหลังสิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ทั้งด้านเงินฝากและเงินกู้ และเชื่อมโยงไปยังปริมาณเงินฝากและการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่า 4% ในปี 2565 และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกนี้  สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางเงินฝากจะเป็นเช่นไร หลังจากสิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้  มาติดตามไปพร้อมๆ กัน

เส้นทางการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์

ย้อนหลังวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ นับเป็นเวลากว่า 2 ปีตั้งแต่เริ่มวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกรอบการประชุม จนมาแตะที่ 2.25% เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 สิ่งที่ตามมาหลังการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ สถาบันการเงินจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ ในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก โดยในที่นี้ขอหยิบประเด็นดอกเบี้ยเงินฝากและปริมาณเงินฝากเพื่อนำมาวิเคราะห์

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้ง สิ่งที่ตามมาคือดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับขึ้นตาม ซึ่งนำโดยธนาคารขนาดใหญ่ แต่จะปรับขึ้นเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ปริมาณเงินฝาก ความต้องการสินเชื่อ และต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร แต่ก็มีบางครั้งที่ธนาคารไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตาม อาทิ รอบล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับจาก 2% เป็น 2.25%

แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนใหญ่ไม่ได้ขยับขึ้นตาม ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วงกว่า 2 ปีมีการขยับขึ้นมาโดยต่อเนื่อง และปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมกับการขยายสินเชื่อและการบริหารต้นทุน อีกทั้งขึ้นกับพฤติกรรมการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละแห่ง เช่น ธนาคารขนาดใหญ่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงแรกโดยเฉพาะเงินฝากประจำ (ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำ 1 และ 2 ปี) และการปรับขึ้นลดลงในช่วงหลัง หรือธนาคารขนาดเล็กที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงอยู่แล้ว จะทยอยปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

หากนับจากวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% เป็น 0.75% รอบแรกในเดือนส.ค.2565 ซึ่งตามด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามมา ในที่นี้อ้างอิงจากเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง ซึ่งได้เริ่มมีการปรับในเดือนกันยายน 2565 จนถึง เดือนสิงหาคม 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นมาแตะที่ 2.25% หรือเพิ่มขึ้น 1.75% ส่งต่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นจาก 0.45% เป็น 1.4% หรือเพิ่มขึ้นราว 1%  จากนั้นส่งผลเชื่อมโยงไปยังปริมาณเงินฝากธนาคาร

โดยยอดคงค้างเงินฝากธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 15.9 ล้านล้านบาท ณ ธ.ค. 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท จากส.ค. 2565 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในยอดเงินฝากประจำ ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นตลาดเงินฝากมีการแข่งขันสูง โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ มีการปรับอัตราผลตอบแทนให้แก่ผู้ฝากเงินตามอัตราดอกเบี้ยตลาดและมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษช่วงระยะเวลาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อการรักษาและเพิ่มฐานลูกค้า อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินฝากเริ่มมีสัญญาณลดลงในปลายไตรมาสสอง สอดคล้องกับการคาดการณ์ใกล้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ภาพรวมเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัวแผ่วลงในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น

การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากว่า 1 ปี เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงเป็นลำดับ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 2.2% เทียบกับ 6.1% ในปี 2565

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจที่ยังมีโมเมนตัมเติบโต แต่ช้าลงจากแรงฉุดในภาคการส่งออก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว โดยในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มจากมาตรการลดรายจ่ายประชาชนในด้านสาธารณูปโภค และการดูแลค่าครองชีพ ที่อาจเริ่มทยอยออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ภายใต้รัฐบาลใหม่

ขณะที่ยังมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากปัจจัยเอลนีโญที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้า แม้ในระยะยาวคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ได้ ส่งผลให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยหรือหากปรับขึ้นก็ยังพอมีพื้นที่ให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกเล็กน้อย ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25-2.50% ณ สิ้นปี 2566

ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 แนวโน้มการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ สำหรับปริมาณเงินฝากก็มีแนวโน้มเติบโตแผ่วลง หลังวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้เข้าสู่จุดสิ้นสุดในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ สอดคล้องกับสัญญาณการชะลอการออกแคมเปญเงินฝากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมเงินฝากทั้งปี 2566 มีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อนหน้า หรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.1% ซึ่งชะลอลงจากที่โต 4.6% ในปี 2565

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ จากความท้าทายในการเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยที่อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางแรงกดดันภายนอกหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าคาด รวมทั้ง เศรษฐกิจจีนที่ยังมีปัจจัยภายในประเทศรุมเร้า ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง เงินฝากจึงยังคงเป็นทางเลือกของการออมเงินที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ และให้อัตราผลตอบแทนที่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน 

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...