SCB EIC เปิดตัวเลขส่งออก ‘อัญมณี’ ไป สวิสเซอร์แลนด์พุ่ง 688.1%

ล่าสุด Economic Intelligence Center ( SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ภาพรวมการส่งออกไทย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.พ. 2024อยู่ที่ 23,384.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวได้เพียง 3.6%YOY (เทียบกับเดือน ก.พ. 2023) ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในเดือนก่อนที่ 10% อยู่มาก

อีกทั้ง ยังหดตัว -2% (เทียบกับเดือน ม.ค. 2024แบบปรับฤดูกาล) นอกจากนี้ การขยายตัวของการส่งออกในเดือน ก.พ. ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 309.5%YOY (คิดเป็นContribution to %YOY Growth = 2.4%) 

ซึ่งไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกสินค้าที่แท้จริง โดยการส่งออกไทยไม่รวมทองคำขยายตัวเพียง 1.2%YOY และหดตัว -2.1%MOM_SA สะท้อนว่าสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะสั้นแผ่วลง

 

 

การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวไม่ทั่วทุกตลาดสำคัญ 

ภาพรวมการส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญโดย (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 15.5% ต่อเนื่องจาก13.7% ในเดือนก่อน และเป็นการขยายตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า การส่งออกสินค้าสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดนี้ขยายตัวถึง 12 รายการ โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (78.5%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (63.8%)

(2) ตลาดสวิสเซอร์แลนด์ ขยายตัว 198.2% เร่งขึ้นจาก 5.1% ในเดือนก่อน จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวถึง 688.1% ซึ่งคาดว่าเป็นทองคำ

 (3) ตลาดยุโรป ขยายตัว 1.7% ต่อเนื่องจาก 3.6% ในเดือนก่อน 

อย่างไรก็ดี (4) ตลาดจีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เป็นตลาดสำคัญที่หดตัวที่ -5.7% -5.8% และ -9.8% ตามลำดั

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและแร่และเชื้อเพลิงหดตัว

ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าดีขึ้นในบางกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัว 7.5% ต่อเนื่องจาก 14% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว 

(2)สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 5.2% ต่อเนื่องจาก 10.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว

 (3) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว-9.1% เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เทียบกับที่ขยายตัว 3.8% ในเดือนก่อน โดยผลไม้กระป๋องและแปรรูปและเครื่องดื่มเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวดี ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว 

และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -8.5% เป็นครั้งแรกในรอบ 7เดือนจากที่ขยายตัว 7.1% ในเดือนก่อน 

การส่งออกเดือน มี.ค. มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง 

SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค.2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก 

ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9% 

อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากการฝึกซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งอาจเห็นการเคลื่อนย้ายอาวุธหรืออุปกรณ์ซ้อมรบออกนอกประเทศในเดือนหน้าผ่านระบบศุลกากร อาจเป็นปัจจัยช่วยให้ตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค. ไม่ติดลบรุนแรงนัก อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเด็นไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกสินค้าของไทยได้อย่างแท้จริง 

นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายอาวุธที่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมรบ Cobra Gold จะไม่ถูกนับรวมในมูลค่าการส่งออกสินค้าตามระบบดุลการชำระเงิน

SCB EIC ปรับลดส่งออกเหลือ  3.1% 

มูลค่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ในปี 2024 จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ (1) ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวใกล้เคียงปีที่แล้ว 

(2)ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 ซึ่งเกินระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนนอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่ (Export order) และดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตในอนาคต (Future output) เริ่มขยายตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในระยะข้างหน้า 

 (3) ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ

อย่างไรก็ตาม SCB EIC ปรับลดประมาณการการส่งออกไทยในปี 2024 อยู่ที่ 3.1% (จาก 3.7%) ตามการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกในปีนี้ที่ยังมีแนวโน้มดี แต่ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัญหาการโจมตีของกบฏฮูตีและความแห้งแล้งของคลองปานามา ปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ 

และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม  นอกจากนี้ สาเหตุที่การส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพิเศษ เช่น ทองคำ จึงอาจไม่สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการส่งออกไทยได้ดีนัก

สินค้าในโลกเปลี่ยนไปในระยะยาว 

แม้ภาคการผลิตโลกจะฟื้นตัวจากช่วงโควิดแล้ว แต่ภาคการผลิตไทยที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกยังไม่ฟื้นกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด สะท้อนจาก 1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2023 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2017 – 2019 

2)การผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรม (เกือบ 80% ของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด) ยกเว้นอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ฟื้นตัว (รูปที่ 7) และ

 3) ดัชนีผู้จัดการ
ฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตไทยมีแนวโน้มปรับแย่ลงต่างจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลกที่ปรับดีขึ้น 

สาเหตุหลักเพราะการส่งออกสินค้าของไทยยังไม่สามารถปรับตัวตอบสนองรูปแบบความต้องการสินค้าในโลกและห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไปได้ดีนัก 

สะท้อนจากดัชนีความสามารถในการปรับตัวต่ออุปสงค์โลก (Adaptation effect index) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการครองตลาดโลก (Relative change of world market share) ที่จัดทำโดย International Trade Centre พบว่าดัชนีของไทยยังติดลบในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ รูปแบบความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศักยภาพการส่งออกไทยอยู่ในระดับต่ำเทียบกับศักยภาพของประเทศในภูมิภาค

สะท้อนจากข้อมูล Export potential หรือมูลค่าศักยภาพการส่งออกของไทยใน 5 ปีข้างหน้า จัดทำโดย International Trade Centre ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนั้น หากพิจารณารายอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งออกได้ต่ำกว่าศักยภาพมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลไฟฟ้า สินค้ายานยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง 

ดังนั้น ภาคการผลิตไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบความต้องการที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...