ทำไม ‘KFC’ เลิกขายบางเมนูที่หลายคนคิดถึง?
วันที่ส่ง: 01/09/2023 - ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจ
Key Points:
- “เคเอฟซี” (KFC) เชนฟาสต์ฟู้ดชื่อดังระดับโลกที่มีกว่า 28,000 สาขา กระจายอยู่ 118 ประเทศทั่วโลก มักออกเมนูใหม่มาให้แฟนๆ ไก่ผู้พันได้ลิ้มลองอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็พบว่า เมนูเหล่านั้นวางขายได้เพียงไม่นานก็เอาออกไป
- สาเหตุที่ “เคเอฟซี” ปรับเปลี่ยนเมนูบ่อยๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้รายการสินค้ามีจำนวนมากจนเกินไปเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการทำงานภายในครัวก็จะรวดเร็วตอบสนองลูกค้าได้ทันท่วงที
- กลุ่มเป้าหมายหลักของ “เคเอฟซี” รวมถึงเชนฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ ในระยะหลัง คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ “เคเอฟซี” เผยว่า คนกลุ่มนี้ชอบรับประทานของที่กินง่ายๆ จำพวกไก่ไม่มีกระดูก นักเก็ต แซนวิช เป็นต้น การออกเมนูใหม่จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานเหล่านี้เป็นอันดับแรก
“ข้าวเขียวหวานไก่กรอบ” “ชีสหนึบ” “ไก่กรอบจักรพรรดิ” “วิงซ์มะนาวแสบ” “ชิซซ่า” ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเมนูในอดีตของ “เคเอฟซี” ยักษ์ฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังที่อยู่คู่คนไทยมา 39 ปีเต็มแล้ว “เคเอฟซี” ประสบความสำเร็จในบ้านเราอย่างท่วมท้น ไก่ทอดผู้พันกลายเป็น “Top of mind” ติดลมบนจนแทบไม่ต้องมีการทำการตลาดเพื่อสร้างความตระหนักรู้อีกต่อไป โดยที่ผ่านมา “เคเอฟซี” หล่อเลี้ยงธุรกิจด้วยการรักษาคุณภาพอาหารให้คงที่ รวมทั้งยังมีการออกเมนูใหม่ๆ แวะเวียนมาให้คนรักฟาสต์ฟู้ดได้ลิ้มรสกันเป็นระยะ
แม้ “เคเอฟซี” จะมีเมนู “ยืนพื้น” ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว แต่เมนูใหม่ๆ ที่เข้ามาเป็นสีสันให้ผู้บริโภคก็ได้รับการตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ที่ผ่านมา “เคเอฟซี” มักมีช่วงเวลาการขายเมนูออกใหม่เหล่านี้ด้วยระยะเวลาจำกัด คล้ายกับเป็น “Seasonal Menu” ที่ผ่านมาแล้วก็จากไป หลายคนคิดถึงและส่งเสียงเรียกร้องเมนูที่เลิกขายไปแล้วให้นำกลับมาขายใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากแบรนด์เท่าที่ควรนำไปสู่คำถามที่ว่า เพราะอะไร “เคเอฟซี” จึงหยุดขายบางเมนูบ่อยๆ แบรนด์มีเหตุผลหรือกลยุทธ์ทางการตลาดอะไรที่สามารถตอบคำถามคาใจเหล่านี้ได้บ้าง
- ลดความซับซ้อนในการสั่ง ทำให้ “ประสบการณ์” ในร้านดียิ่งขึ้น
ช่วงต้นปี 2023 “เคเอฟซี” ประกาศถอดเมนูยอดนิยม 5 รายการออกไปจาก “เคเอฟซี สหรัฐ” โดยมีรายงานข่าวจากหลายสำนักที่ระบุตรงกันว่า การประกาศแขวนเมนูทั้ง 5 สร้างความตกตะลึงให้กับแฟนไก่ทอดผู้พันไม่น้อยเพราะหลายเมนูอยู่คู่เคาน์เตอร์มานานหลายปี ไม่ว่าจะเป็นปีกไก่ทอดเคนตักกี ไก่ป๊อปคอร์น ซอสเผ็ดแนชวิลล์ น้ำมะนาวสตรอว์เบอร์รี และคุกกี้ช็อกโกแลตชิป ส่วนของไทยเองก็มีเมนูที่แฟนๆ คิดถึงหลายอย่างด้วยกันที่มักถูกพูดถึงตามอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ ก็อย่างเช่น ข้าวเขียวหวานไก่กรอบ ข้าวยำไก่ซี้ด ทวิสเตอร์ ชีสหนึบ กุ้งอบวุ้นเส้นสติ๊ก เป็นต้น
“บริททานี วิลสัน” (Brittany Wilson) ผู้อำนวยการ “เคเอฟซี สหรัฐ” ให้เหตุผลถึงการถอดเมนูยอดนิยมออกจากรายการอาหารว่า “เคเอฟซี” ต้องการลดความซับซ้อนบนกระดานเมนูเพื่อให้ลูกค้าเลือกสั่งสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยกลยุทธ์ของ “เคเอฟซี” คือการ “จำกัด” ตัวเลือกสินค้า ทำให้ลูกค้าโฟกัสไปที่เมนูยืนพื้นของเคเอฟซีซึ่งเป็นเมนูที่ร้านทำได้ดีมาโดยตลอดแม้ว่าจะมีลูกค้าบางกลุ่มเรียกร้องให้นำเมนูโปรดของพวกเขากลับมาขายอีกครั้ง ทั้งยังมองว่า เมนูที่ถูกถอดออกไปเป็นสินค้าขายดีอยู่แล้ว ร้านมีเหตุผลอะไรจึงเลือกหยุดขายเมนูเหล่านี้ไป
- “เมนูโปรด” ไม่เท่ากับ “เมนูขายดี”
ในความเป็นจริงแล้วเมนูที่มีการหยุดขายโดยส่วนใหญ่ของ “เคเอฟซี” มักเป็นเมนูที่ไม่ได้มีจำหน่ายทุกสาขา โดยมากจะมีการขายนำร่องก่อนซึ่งก็พบว่า ยอดขายของสินค้าดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ท้ายที่สุดจึงมีการพับเมนูดังกล่าวไป แม้ในมุมของผู้บริโภคจะมองว่า เมนูเหล่านั้นมีศักยภาพไปต่อได้แต่หากวัดผลกันที่ตัวเลขแล้วผลลัพธ์ก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น ส่งผลให้เมนูโปรดของหลายคนถูกโละออกจากกระดานเมนูไป
อย่างไรก็ตาม “วิลสัน” บอกว่า การปรับลดเมนูมีข้อดีคือช่วยให้ร้านมีพื้นที่สำหรับเมนูใหม่ๆ มากขึ้น ในตลาดฟาสต์ฟู้ดสหรัฐที่ผ่านมาพบว่า ร้านฟาสต์ฟู้ดหลายแห่งเริ่มทำเมนูประเภทแซนวิชออกวางขายและได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนทำให้ในช่วงที่ผ่านมาร้านค้าหลายแห่งต้องเริ่มเข็นเมนูแซนวิชออกมาวางขายจนแทบจะกลายเป็น “สงครามแซนวิช” กันแล้ว โดยเฉพาะ “แซนวิชไก่” ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้าน “นิค ชาเวซ” (Nick Chavez) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด “เคเอฟซี สหรัฐ” ระบุว่า ในปีนี้ร้านจะเน้นไปที่การพัฒนาปรับปรุงเมนูในไลน์โปรดักต์ “Ultimate BBQ” โดยมี “แซนวิชไก่รสเผ็ด” “แซนวิชไก่เคเอฟซีบาร์บีคิว” และ “แซนวิชฮันนี่บาร์บีคิว” เป็นตัวชูโรง
- ช้ากว่าคู่แข่งก้าวเดียว ก็รอไม่ได้
นอกจากการขายหน้าร้านที่เน้นความรวดเร็วอยู่แล้ว การขายแบบ “ไดรฟ์ทรู” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ “เคเอฟซี” อยู่ในสมรภูมิแข่งเดือดกับฟาสต์ฟู้ดเจ้าอื่นในท้องตลาดเช่นกัน และหนึ่งในเหตุผลที่ต้องมีการถอดเมนูออกไปก็เพราะการแข่งขันในสนามนี้ด้วย
ไม่ใช่แค่เหตุผลในการตัดตัวเลือกการตัดสินใจให้กับลูกค้า แต่เมนูที่เรียบง่ายส่งผลกับประสิทธิภาพของการทำงานในห้องครัว ร้านเคเอฟซีบางแห่งรายงานว่า ตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนเมนูการให้บริการไดรฟ์ทรูก็เร็วขึ้นถึง 11 วินาที โดยเว็บไซต์ “All Recipes” รายงานผลสำรวจจาก “Intouch Insight” ปี 2022 ที่มีการระบุว่า ระยะรอคอยสินค้าไดรฟ์ทรูของร้าน “เคเอฟซี” เฉลี่ยอยู่ที 63 วินาที โดยนับเป็นความเร็วอันดับที่ 3 ในบรรดาเชนฟาสต์ฟู้ด ตามหลัง “Hardee’s” และ “Carl Jr.’s” เคเอฟซีจึงเลือกใช้กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนเมนูให้น้อยลง ง่ายต่อการตัดสินใจมากขึ้น รวมถึงเมนูง่ายๆ ยังทำให้การทำงานหลังบ้านภายในครัวคล่องตัว-ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที
- ลูกค้าอายุน้อย คือกลุ่มเป้าหมายหลัก
ผู้บริหาร “เคเอฟซี สหรัฐ” เผยว่า ตอนนี้สิ่งที่ “เคเอฟซี” กำลังเร่งมือทำคือสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น เคเอฟซีจึงเลือกออกสินค้าที่กินง่าย เน้นความคล่องตัว อาทิ ไก่ไม่มีกระดูก นักเก็ตไก่ รวมถึงแซนวิช และเมนูประเภท “Wrap” ที่สามารถรับประทานระหว่างเดินทางได้
หัวหน้าเชฟ “เคเอฟซี สหรัฐ” เผยข้อมูลเชิงลึกว่า ผู้บริโภคอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะเลือกรับประทานไก่ไม่มีกระดูกมากกว่า เขาไม่แน่ใจว่าเกิดจากปัจจัยใดแต่พบว่า “ไก่มีกระดูก” ไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่ฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ ก็มีการคิดค้นเมนูใหม่ๆ ที่มีส่วนผสมน่าสนใจออกมาทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มนี้เช่นกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเร็ว ความสะดวก แปลกใหม่ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน ของสมนาคุณ ส่วนลด และขั้นตอนการสั่งซื้อที่ต้องไม่ยุ่งยากจนเกินไป เอื้อให้ผู้บริโภคประหยัดเวลาได้
หากพิจารณาดูจากภาพรวมของการปรับลดสินค้าบางรายการก็จะเห็นว่า ปัจจัยหลักที่ “เคเอฟซี” เลือกหยุดขายบางเมนูมาจากเหตุผลเรื่องความรวดเร็วเป็นหลัก ซึ่งก็จะไปสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเชนฟาสต์ฟู้ดในตอนนี้อย่างกลุ่มวัยรุ่น-มิลเลนเนียลส์ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว เชื่อมโยงไปยังเมนูออกใหม่ที่เน้นสินค้าจำพวกของทานเล่น ไก่ไม่มีกระดูก ตลอดขั้นตอนการสั่งซื้อที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งได้
สำหรับใครที่คิดถึงเมนูเก่าๆ ของ “เคเอฟซี” อาจต้องรอดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เพราะที่ผ่านมาในสหรัฐเองก็เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้คนเข้าชื่อผ่านเว็บไซต์ “Change.org” เรียกร้องให้นำเมนู “ทวิสเตอร์” ไก่พันแป้งตอติญ่ากลับมา ซึ่งก็พบว่า ปัจจุบันเคเอฟซีได้นำเมนูดังกล่าวกลับมาเรียบร้อยแล้ว
อ้างอิง: All Recipes, Business Insider, The Sun, TODAY
คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ
"พลอย ขอนแก่น-อิศ จันท์" หอบแชมป์โลกกลับบ้าน "เฮียฮง" สุดปลื้มผลงาน สร้างความสุขคนไทยส่งท้ายปี
พลอย ขอนแก่น และ อิศ จันท์ สองแชมป์โลกสนุกเกอร์เดินทางถึงไทย นายสุนทร จารุมนต์ ร่วมยินดีกับความสำเร็...
รอมานาน "ทิตาธร" พูดตรงๆ ถึง "อิชิอิ" หลังติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก ฟีฟ่าเดย์ พ.ย.
รอมานาน "ทิตาธร" พูดตรงๆ ถึง "อิชิอิ" หลังติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก ฟีฟ่าเดย์ พ.ย. ไทยรัฐทีวี 32 ...
“ซิตี้ดีไซด์xเด็กปั้มรักจริง” คว้าแชมป์ Carabao 7-a-Side Cup 2024 สนาม 28
ได้แล้วแชมป์ Carabao 7-a-Side Cup 2024 สนาม 28 ภาคอีสาน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ฟุตบอล 7 คน Carabao...
เลือดใหม่ทำได้ "ทีมชาติไทย" งัดฟอร์มชนะ "ออสเตรเลีย" จบที่ 3 ฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียน 2024
เลือดใหม่กู้หน้าได้สำเร็จ "ทีมชาติไทย" พลิกฟอร์มเอาชนะ "ออสเตรเลีย" จบอันดับ 3 ฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียน...
ยอดวิว