‘เบียร์’ ถูกตีโอบ 'คาราบาวแดง' จะขึ้นเบอร์ 1 ‘เสถียร’ เบ่งอาณาจักรแสนล้าน

“เสถียร” ทำธุรกิจมากว่า 2 ทศวรรษ ล้วนแล้วลงสนามใหญ่ระดับ “หมื่น-แสนล้านบาท” แทบทั้งสิ้น โดยเริ่มต้นลงขันกับสหายหรือกลุ่มเพื่อน ทั้ง ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ และพี่แอ๊ด คาราบาว(ยืนยง โอภากุล) สร้างแบรนด์ “คาราบาวแดง” ลงสังเวียนเครื่องดื่มชูกำลังที่มีมูลค่าระดับ 2 หมื่นล้านบาท

“ค้าปลีก” เป็นกิจการปลายน้ำที่บิ๊กคอร์ปหมายปอง แต่สนามนี้ผู้เล่นใหญ่ยักษ์ไม่ง่ายจะต่อกร แต่โอกาสมาเยือนเมื่อ “ซีเจ” ค้าปลีกท้องถิ่นเปลี่ยนมือ ขายกิจการให้ “เสถียร” ได้เรียนรู้ ต่อยอด สร้างการเติบโต ท่ามกลางการขยายธุรกิจ ยังเดิมพันครั้งใหม่รุกธุรกิจน้ำเมาปั้นแบรนด์สู้ศึก “สุราขาว” ท้าชนราชันย์น้ำเมาที่มีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 90%

ทายาท -สหาย - บรูว์มาสเตอร์ ลุยตลาดเบียร์

“เบียร์” เป็นเดิมพันครั้งใหม่ที่ “เสถียร” มองเป้าหมายแย่งขุมทรัพย์ 2.6 แสนล้านบาท จาก 2 บิ๊กเนมไทย “สิงห์-ช้าง” และแบรนด์โลก(Global Brand) “ไฮเนเก้น” เพื่อเป็น “เบอร์ 3” ในตลาด

ผ่านไป 5 เดือน หลังเปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ “คาราบาว-ตะวันแดง” ที่มาพร้อมสินค้าหลายตัวทั้ง ลาร์เกอร์ ดุงเกลหรือเบียร์ดำ ไวเซ่น และโรเซ่ ตอบโจทย์คอทองแดง ล่าสุด ได้เปิดน้องใหม่เบียร์ตัว “ไอพีเอ”(IPA)เสริมทัพ สร้างแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ

โอกาสนี้ “เสถียร” จึงออกมาบอกเล่าเรื่องราวการลุยธุรกิจเบียร์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา หนักหนาสาหัสไม่น้อย

ช่องทาง On Premise วัดแพ้-ชนะเกมแข่งเบียร์

 

5 เดือน ทำตลาดเบียร์ เต็มไปด้วยอุปสรรค!

เสถียร เล่าว่า หลังจากทำตลาดเบียร์มา 5 เดือน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ “ผู้บริโภคหาซื้อยาก” ทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้อาจไปถึงล่าช้า แต่ไม่ต้องปรับแผน โดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

“การทำธุรกิจในบ้านเราอยู่ในลักษณะที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาดเรามีโครงข่ายจากค้าขายเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวมา 20 ปี ทำเหล้ามา 7-8 ปี ยังเจอรับน้องรายการใหญ่ๆ อุปสรรคจึงทำให้เราโตช้ากว่าที่คาดเท่านั้นเอง”

ในการทำตลาดเบียร์ “หัวใจสำคัญ” คือ “ช่องทางจำหน่าย” โดยเฉพาะร้านอาหาร โรงแรม ผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ หรือ On Premise/ On trade นั่นเอง ที่ครองพื้นที่ทำเงินให้น้ำเมาสีอำพันเกินกว่า 70% ส่วนร้านค้าทั่วไป(Traditional Trade) หรือ Off Premise/Off Trade สัดส่วนน้อยกว่า เพราะพฤติกรรมคนไทยนิยม “กินเหล้า-เบียร์รวมหมู่” ดื่มกินที่ร้านอาหาร ผับบาร์ฯ จึงทำเงินจากคอทองแดงได้มาก

ปัจจุบันร้านค้าทั่วไป เบียร์คาราบาวและตะวันแดง เจาะช่องทางขายได้หลัก “แสนร้าน” ส่วนร้านอาหาร ผับ บาร์ฯ ที่มีหลายแสนแห่งทั่วประเทศ ยังเข้าถึงไม่มาก ยิ่งเทียบสัดส่วนการป้อนสินค้าเข้า On Premise ทำได้เพียง 10% เท่านั้น

ผับ บาร์ ร้านกลางคืนโดนสกัด ใช้ "ซีเจ มอร์" ช่วยแก้เกมขายเบียร์

 

“คู่แข่ง” ตีโอบ หากมีสินค้าตัวเดียวสลบแน่!

ทั้งนี้ ช่องทางจำหน่าย On Premise ถือเป็นจุดสำคัญจะให้กำเนิดและสร้างความนิยมการดื่มเบียร์ ดังนั้น หมากรบการออก “เบียร์ไอพีเอ” สินค้าตัวที่ 5 จึงเป็นจิ๊กซอว์ในการสร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอน้ำเมาสีอำพัน ยังช่วยให้ต่อกรกับคู่แข่งได้พอหอมปากหอมคอด้วย

“โลกความเป็นจริง ถ้าเราออกเบียร์ 1 ตัว เราสลบแน่ การปิดล้อมเบียร์ตัวเดียวง่าย จะออกไปยาก ตอนนี้มีเบียร์ 4-5 ตัว ทำให้การเชียร์เบียร์ลาเกอร์ โรเซ่ ไวเซ่น แม้กระทั่งไอพีเอ สร้างความหลากหลายให้นักดื่มได้”

การออกสินค้าใหม่เสริมใยเหล็กให้พอร์ตโฟลิโอจึงเป็นการเรียนรู้ในการทำธุรกิจที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบัน “เสถียร” แชร์ข้อมูลจากนีลเส็นว่า เบียร์คาราบาว-ตะวันแดง ขายดีทุกตัว

“ช่องทางจำหน่ายเป็นจุดสลบจุดตาย จะทำเบียร์ให้สำเร็จ แพ้-ชนะ สู้กันที่ On Premise ถ้าทำตรงนี้ไม่ได้ เราไม่ชนะ ส่วนถามว่าเบียร์ตัวไหนขายดี ไม่ตอบแบบกวนนะ..ขายดีทุกตัว”

 

ผูกขาด ตลาดไม่พัฒนา

ท่ามกลางการถูกคู่แข่งตีโอบ เตะตัดสกัดขา ให้เข้าไปแบ่งเค้กตลาดเบียร์ได้ยาก อีกด้าน “เสถียร” มองอีกมิติด้าน “การไม่พัฒนา” เพราะผลิตภัณฑ์จะไม่มีความหลากหลายตอบสนองคอทองแดง นอกจากไม่แข่งขันในตลาด ยังก่อให้เกิดการไม่แข่งขันกับตัวเองด้วย เพราะผู้เล่นรายใหญ่ที่ “ผูกขาด” และจะออกสินค้า เอ บี ซี ดี ฯ มาทำไม หาก “ของเดิมที่มีขายดีอยู่แล้ว”

ไม่นับกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(พ.ร.บ.)ที่เข้มงวดการโฆษณา จำกัดเวลาขาย ยิ่งปิดกั้นผู้เล่นรายใหม่ ทำให้รายเก่าได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม หาก “คาราบาว-ตะวันแดง” ทำตลาดครบขวบปีจะเป็นรายเก่าเช่นกัน ทว่า ภาพรวมกฎหมายไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และควร “ปลดล็อก” โดยเฉพาะกฎหมายที่ห้ามไม่ให้คนทำมาหากิน หรือไม่เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขัน

“ผมเดินทางมาทั่วโลก ไม่อยากบอกว่าเป็นร้อยประเทศ แต่อย่างน้อย 40-50 ประเทศ ไม่มีประเทศไหนเข้มงวดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย”

ขณะที่การออกเบียร์ใหม่ “ตะวันแดงไอพีเอ” กลยุทธ์ของ “เสถียร” ยังเดิมพันการทลายการรับรู้ของผู้บริโภคในการเรียกประเภทและโลกของเบียร์ที่แยกย่อยอีกหลายแขนงทั้งลาเกอร์ ดุงเกล ไวเซ่น ไอพีเอ ฯ มากกว่านั้นยังมี Pale Ale, Ale, Wheat Beer, Belgian Ale, Pale Larger, Schwalzbier, Dark Ale และ Fruit เบียร์ เป็นต้น แทนการเรียกชื่อสัตว์ต่างๆที่นำมาสร้างแบรนด์

“คนไทยได้ดื่มเบียร์ 5 รสชาติ เพราะมีคนอย่างผม พูดแบบให้น่าหมั่นไส้ก็คือ เพราะรวยแล้ว เวลาทำก็ไม่กลัวเจ๊ง! กล้าเจ๊ง! เจ๊งอีกหน่อยก็ไม่เป็นไร กล้าที่จะมาลงทุน แต่คนทั่วไป ไม่มีโครงข่าย ใครจะมาลงทุนทำเบียร์แบบนี้ กฎหมายไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน กฎหมายบางอย่างเข้มจนรายใหม่เกิดไม่ได้”

 

เครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” จ่อขึ้นบัลลังก์เบอร์ 1

ปัจจุบัน “เสถียร” และสหายสร้างอาณาจักร “คาราบาว” ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และปี 2567 จะเห็น “บิ๊กเซอร์ไพรส์” หลายด้าน โดยเฉพาะ “เครื่องดื่มชูกำลัง” ภายใต้แบรนด์ “คาราบาวแดง” จะเห็นการขึ้นบัลลังก์ “เบอร์ 1” ด้วยการเดินหน้าสู่การครองส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 27-28% จากปัจจุบันมีส่วนแบ่ง 25-26% แล้ว นั่นหมายความว่า “ผู้นำเดิม” กำลังถูกเขย่าเก้าอี้แชมป์

ทั้งนี้ กลยุทธ์ราคาที่คาราบาวแดงกัดฟันขาย 10 บาท ท่ามกลางคู่แข่งขึ้นราคาสินค้าเรือธงเป็น 12 บาท ทำให้สามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รายงานข้อมูลของคาราบาวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ระบุส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ณ สิ้นปี 2566 ของคาราบาวแดงอยู่ที่ 23.6% เป็นสถิติใหม่สูงสุดและเพิ่มขึ้น 3%

“การที่คาราบาวแดงยังยืนหยัดขาย 10 บาท ทำให้มาร์เก็ตแชร์เราโตขึ้นเรื่อยๆ และปีนี้เราควรจะเป็นที่ 1 สักที หลังจากสู้มา 20 ปี”

 

ปี 67 อาณาจักรคาราบาวทะยานสู่ “แสนล้านบาท”

ปี 2567 “เสถียร” ยังมองเป้าหมายรายได้ของทั้งกลุ่มจะทะยานสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทด้วย โดยรายได้รวมของเครื่องดื่มชูกำลังมากกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1,900 ล้านบาท ค้าปลีกภายใต้ “ซีเจ มอร์” รายได้คาดการณ์ 5 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท จากปีก่อนกำไร 2,600 ล้านบาท และเหล้า ทำกำไรอีกหลัก “พันล้านบาท”

ส่วนเบียร์ มองเป้าหมายส่วนแบ่งตลาด 10% หรือคิดเป็นประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท จากตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้านบาท ในปี 2566 แม้กำลังเจอคู่แข่งตั้งการ์ดช่องทาง On Premise ก็ตาม เพราะยังมีร้านอาหาร หมูกระทะ ร้านลาบ-ส้มตำ อีกหลายแสนร้านให้เข้าไปแบ่งพื้นที่ทำเงิน

“คุณจะกันผมได้ทุกร้านเหรอ วันนี้คุณยกการ์ดไว้ ผมไม่เข้า แล้วจะยกการ์ดไปทุกร้านเหรอ”

เป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ “เสถียร” ทำมาหลายธุรกิจ แล้วใช้เวลากี่ปีกว่าแต่ละธุรกิจจะประสบความสำเร็จ

“ตอนทำเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดง ผมใช้เวลา 12 ปี กว่าจะเข้าตลาด ตอนนั้นมีกำไร 1,000 ล้านบาท ทำค้าปลีกซีเจใช้เวลา 5 ปี ทำกำไร 1,000 ล้านบาท และ 7 ปีถึงสำเร็จ เหล้าทำ 4-5 ปี กำไร 1,000 ล้านบาท ส่วนเบียร์ผมก็ทำไป ไม่ทุกข์ แข่งไปสนุกไป ไม่กดดันตัวเอง..แต่กดดันลูกน้อง” คำตอบติดตลกเรียกเสียงหัวเราะ

อย่างไรก็ การทำธุรกิจสร้างความยิ่งใหญ่ให้กลุ่มคาราบาว การต่อสู้สังเวียนไหนหนักสุด คำยืนยันคือ “ทำธุรกิจไม่ง่ายที่จะสำเร็จ แต่เบียร์กับเหล้า เบียร์ทำง่ายกว่าเหล้ามากในการสร้างความนิยม เพราะหนึ่งโปรดักท์เราชนะ!”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...