ประเดิมเดือนแรกปี 67 ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 21.53%

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที (GIT) เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ม.ค.2567 มีมูลค่า 696.96 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.53% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวดีขึ้น ภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัวลง และกระทรวงพาณิชย์มีการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านการค้าอัญมณี แสวงหาคู่ค้ารายใหม่ ส่งผลให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,166.08 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 59.09%

ตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 10.71% อิตาลี เพิ่ม 0.42% ฮ่องกง เพิ่ม 62.17% เยอรมนี เพิ่ม 21.97% อินเดีย เพิ่ม 66.18% เบลเยียม เพิ่ม 82.11% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 8.04% กาตาร์ เพิ่ม 903.39% ญี่ปุ่น เพิ่ม 17.29% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 7.65% 

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 30.18% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 35.99% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 6.70% พลอยก้อน เพิ่ม 4.78% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน 10.10% พลอยเนื้ออ่อนจียระไน เพิ่ม 29.25% เพชรก้อน เพิ่ม 215.75% เพชรเจียระไน เพิ่ม 5.93% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 17.12% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพิ่ม 11.87% และทองคำ เพิ่ม 194.17% ซึ่งเป็นการส่งออกไปเก็งกำไร จากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2567 แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว แต่ยังอาจเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ ทั้งนโยบายการเงินที่ตึงตัวนานกว่าที่คาด สงครามอิสราเอลและฮามาสอาจขยายวงและมีประเทศผู้นำในภูมิภาคเข้ามาร่วม การเลือกตั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วและกระทบห่วงโซ่การผลิต ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สำหรับการขับเคลื่อนการส่งออกในปีนี้ มีข้อแนะนำผู้ประกอบการ ต้องไม่ลืมการโฟกัสในเรื่องสินค้ารักษ์โลกและที่มาสินค้าที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะไม่เพียงแต่ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจ หลายประเทศเริ่มมีมาตรการตรวจสอบและกฎระเบียบเข้ามาควบคุม

เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญต่อช่องทางออนไลน์ที่ไม่เพียงต้องใช้งานง่าย สะดวก มีความน่าสนใจ และเลือกแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคแล้ว ยังต้องมีการผนวกลูกเล่นจากเอไอ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกับลูกค้าที่กำลังให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ด้วย เพราะการทำตลาดไม่ใช่แค่การผสานทั้งออนไลน์และการขายหน้าร้านอีกแล้ว แต่ต้องสามารถยกระดับประสบการณ์ทางการตลาดไปอีกขั้น จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและก้าวไปข้างหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด GIT ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมอัญมณีแห่งฮ่องกง ในการร่วมกันรับรองมาตรฐานการตรวจสอบหยก FeiCui และคอรันดัม ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และร่วมกันโปรโมตมาตรฐานพลอยสีของไทย ซึ่งจะช่วยในการค้าขายหยก FeiCui และคอรันดัม ระหว่างไทย-จีน ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมให้การซื้อขายขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...