คาร์บอนเครดิต ทางรอดใหม่ของอุตสาหกรรมยางไทย

Krungthai COMPASS เปิดบทความ "คาร์บอนเครดิต ทางรอดใหม่ของอุตสาหกรรมยางไทย" โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก จากข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีการผลิตยางพาราอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน หรือมีสัดส่วน 31.5% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง จากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีน ที่เป็นผู้นำเข้ายางพาราไทยอันดับ 1 มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกร และผู้ประกอบการยางพารามีแนวโน้มลดลง  

ที่ผ่านมาภาครัฐนำโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงได้มีการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เช่น นโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา นโยบายกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยาง โดยเป็นการดึงภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับ กยท. ในการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา

อีกทั้งในปี 2567 ยังมีนโยบายที่จะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพารา และการจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร และต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น

อนึ่ง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเป็นประเด็นที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของภาคธุรกิจ จากการที่หลายประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net ZeroEmissions) ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

รวมถึงการเพิ่มการกักเก็บ/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้เริ่มปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไปสู่ธุรกิจยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมยางพาราไทย จากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้มีนโยบายส่งเสริมการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราไทย

อีกทั้งยังสอดรับกับความต้องการคาร์บอนเครดิต เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย CarbonNeutral และ Net Zero Emissions ของทั้งใน และต่างประเทศ 

บทความฉบับนี้ Krungthai COMPASS จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมาร่วมกันหาคำตอบว่า ทำไมคาร์บอนเครดิตจึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยางพาราไทย หากผู้ประกอบการยางพาราขายคาร์บอนเครดิตจะส่ง ผลดีต่อผลประกอบการอย่างไร

โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราเสียก่อน

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิตคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายได้ โดยผ่านตลาดคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ (อบก. 2566) หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ ได้แก่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยตลาดคาร์บอนเครดิต อนึ่ง ตลาดคาร์บอนโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่

1) ตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่ประกาศเป็นกฎหมาย และมีบทลงโทษเมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มาตรการ EU ETS ในสหภาพยุโรป

และ 2) ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจที่เกิดจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัครใจ

ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยเป็นตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ ซึ่งเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER 

ทั้งนี้ จากสถิติการขึ้นทะเบียนโครงการ ของ อบก. ตั้งแต่ปี 2557-2567 (เดือนก.พ.) พบว่า มีโครงการ T-VER ที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก. รวมทั้งสิ้น 375 โครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้/กักเก็บได้รวมกันประมาณ 12 MtCO2eq/ปี

โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีการขึ้นทะเบียนจำนวนมากที่สุดคิดเป็น 50% ของจำนวนโครงการทั้งหมด แต่สำหรับโครงการภาคเกษตรนั้นยังมีจำนวนน้อยมีเพียง 6 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการของสวนยางเพียง 4 โครงการ หรือคิดเป็น 1.1% ของโครงการทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่น

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ทาง กยท. ดำเนินการนำร่องโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา เพื่อที่สนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการยางพาราเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้มากขึ้น  

ซึ่งคาดว่าความพยายามในการขับเคลื่อนโครงการนี้ของ กยท. จะมีส่วนช่วยให้มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในสวนยางจำนวนเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดซัพพลายของคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางมีขั้นตอนอย่างไร

คาร์บอนเครดิตที่จะสามารถซื้อขายได้ในไทยนั้น จะต้องผ่านกระบวนการ 1) การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VERและ 2) การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากโครงการฯ โดย อบก. ซึ่งสำหรับโครงการ T-VER ในพื้นที่สวนยางพารา จะมีเงื่อนไขเป็นไปตามโครงการ T-VER ภาคเกษตร มาตรฐานไม้ผลไม้ยืนต้น

โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง สามารถซื้อขายได้ผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter: OTC) หรือผ่านแพลตฟอร์มหรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX)

ปัจจุบันคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองภายใต้มาตรฐาน T-VER ยังเป็นเพียงเพื่อการใช้ประโยชน์และซื้อขายภายในประเทศเท่านั้น หากผู้ขายต้องการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนต่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีหลายมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน VerifiedCarbon Standard (VCS/VERRA) ซึ่งครอบคลุมกว่า 42% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตทั่วโลกในปี 2565

ทำไมคาร์บอนเครดิตจึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมยางพารา

1. ยางพาราเป็นพืชยืนต้นที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพืชยืนต้นประเภทอื่นดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ อบก. ยางพารา 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 47.4KgCO2eq/ปี ซึ่งมากกว่าไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ เมื่อเทียบกับต้นกระถินยักษ์และกระถินเทพาที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 36.5 และ 34.2KgCO2eq/ปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ เนื่องจากต้นยางพารามีลำต้นหลักเพียงต้นเดียว ไม่มีการแตกกอเหมือนกับพืชยืนต้นประเภทอื่น กอปรกับเส้นรอบวงของต้นที่เพิ่มขึ้นราว 6.9 เซนติเมตร/ปี ทำให้มีมวลชีวภาพเหนือดินสูงส่งผลให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงตามไปด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ยางพารา 1 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 4.2 tCO2eq/ปี

อย่างไรก็ดี อายุของต้นยางพารามีผลต่ออัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นยางที่มีอายุ 
6-10 ปี หรือต้นยางพาราที่เริ่มกรีดน้ำยางได้ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากที่สุด ซึ่งอยู่ที่ 4.9 tCO2eq/ไร่/ปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ต้นยางพารามีการเติบโตดี

รองลงมาคือ ยางพาราที่มีอายุ 11-15 ปี ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 4.4tCO2eq/ไร่/ปี โดยศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงเมื่อต้นยางมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป

2. โอกาสในการขยายพื้นที่สวนยางพารา เพื่อขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขอรับรองคาร์บอน-เครดิตยังมีอยู่อีกมาก โดยในปี 2566 ไทยมีพื้นที่ในการเพาะปลูกยางพาราราว 24.9 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ยังมีจำนวนไม่มาก ปัจจุบันมีอยู่เพียง 3.7 หมื่นไร่ คิดเป็นเพียง 0.1% ของพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ และมีจำนวน 4 โครงการ จากทั้งหมด 375โครงการ T-VER ที่มีการขึ้นทะเบียนกับ อบก.

ปัจจุบันโครงการ T-VER ในสวนยางพาราคาดว่าจะดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อยู่ที่ 156,626 tCO2eq/ปี คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะดูดซับได้ต่อปีของโครงการ T-VER ที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด

นอกจากนั้น ปริมาณคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราที่ผ่านการรับรองจาก อบก. แล้ว มีอยู่ราว 14,450 tCO2eq คิดเป็นเพียง 0.1% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตทั้งหมดที่ผ่านการรับรองจาก อบก.

ทั้งนี้ จากข้อจำกัดบางประการ จึงทำให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VERในสวนยางพารายังมีไม่มากนัก เช่น ความพร้อมในด้านองค์ความรู้และเงินทุน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น 

3. ภาครัฐให้การสนับสนุน โดยเป็นโครงการที่ กยท. ดำเนินการเพื่อที่จะยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการยางพารา อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย CarbonNeutral ในปี 2593 และ Net Zero Emissions ในปี 2608 โดยทาง กยท. จะเป็นตัวกลางในการดำเนินการ และร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของราชการ และภาคเอกชน

ทั้งนี้ ภาครัฐได้เล็งเห็นข้อจำกัดหลายประการ จึงได้ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อที่จะผลักดันให้เกษตรกร และผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารามากขึ้น 

เช่น ในปี 2567 จะมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพารา และการจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อให้เกษตรกรนำไม้ยางพาราในพื้นที่ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินของรัฐบาล เพื่อที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการยางพาราหันมาเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้น ในอนาคตคาดว่าทาง กยท. มีแผนที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยหรือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีพื้นจำกัด โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการรวมกลุ่ม และเป็นผู้พัฒนาโครงการแทนผู้ประกอบรายกลุ่มนี้

รวมทั้ง กยท. จะเป็นตัวแทนในการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ทาง กยท. จะนำมาหักกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินโครงการ เช่น ค่าใช้จ่ายในกระบวนการพัฒนาและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER รวมทั้งการขอรับรองคาร์บอนเครดิต หลังจากนั้นจะนำรายได้สุทธิมาจัดสรรให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการยางพาราที่เข้าร่วมโครงการผ่านสถาบันการเงินของรัฐ

โอกาสจากการแปลงพื้นที่สวนยางเป็นคาร์บอนเครดิต

Krungthai COMPASS มองว่าหากผู้ประกอบการได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราจะสร้างโอกาสได้หลายประการ โดยผู้ประกอบการยางพาราที่เข้าร่วมโครงการ T-VER และขายคาร์บอนเครดิตจะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปริมาณการส่งออกยางพาราที่มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้  ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการยางพาราที่เป็นผู้พัฒนาโครงการและผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ต้องการใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการในพื้นที่สวนยางพารา เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset)

โอกาสที่ 1: เพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นให้กับผู้ประกอบการ

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราจะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ โดยผู้ประกอบการที่มีพื้นที่สวนยางพารา และต้องการขายคาร์บอนเครดิต จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน และเงื่อนไขที่ อบก. กำหนด คือ 

1) การพัฒนา และขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และ 2) การรับรองคาร์บอนเครดิตหรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถดูดซับได้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ 7 ปี อยู่ที่ราว 84-614 บาท/ไร่/ปี สำหรับโครงการที่มีพื้นที่ระหว่าง 100-5,000 ไร่ 

โดยกรณีตัวอย่างของผู้ผลิตน้ำยางข้นที่มีพื้นที่สวนยางพารา และทำการขายคาร์บอนเครดิต จะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ราว 805 บาท/ไร่ ซึ่งสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงถึง 6.2% หากภาครัฐมี นโยบายในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนาและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และการขอรับรองคาร์บอนเครดิตตลอดอายุโครงการ

หากไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ประกอบการรายย่อยจะมีความเสียเปรียบทางด้านต้นทุน โดยพื้นที่โครงการขนาดใหญ่จะมีต้นทุนต่อหน่วยในการพัฒนาและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขอรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตตลอดอายุโครงการที่ต่ำกว่าโครงการขนาดเล็ก จากตัวอย่างโครงการที่มีพื้นที่ 1,000 ไร่ จะมีต้นทุนดังกล่าวเฉลี่ยต่อผลผลิตอยู่ที่ 0.8 บาท/กก. ขณะที่โครงการที่มีพื้นที่ 100 ไร่จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 บาท/กก. หรือมีต้นทุนมากกว่าถึง 3.4 เท่า

การสนับสนุนของภาครัฐจึงมีผลอย่างยิ่ง ต่อการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการรายย่อย โดยหากผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าวทั้งหมด การดำเนินโครงการในพื้นที่ 100 ไร่ จะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายคาร์บอนเครดิต ได้เพียง 1.1% เทียบกับกรณีที่ดำเนินโครงการในพื้นที่ 1,000 ไร่ จะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงถึง 4.8%

รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตช่วยลดผลกระทบจากปริมาณการส่งออกยางที่มีแนวโน้มลดลงได้ 

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วง ปี 2560-2566 ปริมาณการส่งออกยางพาราของไทยมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยปีละ 4.8% (CAGR) ขณะที่ราคาคาร์บอนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปี 2567 ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยของไทย อยู่ที่ราว 191 บาท/tCO2eq ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5.6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 

นอกจากนั้น รายงาน State and Trends of Carbon Pricing 2023 ของ World Bank ระบุว่า ในอนาคตคาดว่าราคาคาร์บอนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากการที่หลายธุรกิจจำเป็นต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยราคาคาร์บอนที่จะผลักดันให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions จะอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/tCO2eqในปี 2573 จากระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/tCO2eq ในปี 2563 

โอกาสที่ 2: ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น ที่มีการส่งออกมีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศสูงถึง 1.7MtCO2eq จากปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติราว 2.7 ล้านตัน โดยประเมินจากค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติทั้ง 3 ประเภท

ซึ่งในผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 0.5, 0.6 และ 0.7 tCO2eq/ตันผลิตภัณฑ์ตามลำดับ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอุตสาหกรรมยางพาราก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

Krungthai COMPASS ประเมินว่าคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยต่อปีที่ได้จากการดำเนินโครงการขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ มีสัดส่วนเทียบเท่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติราว 6-8% ของปริมาณการผลิต 1 แสนตัน โดยกรณีน้ำยางข้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 7.8% ขณะที่กรณีการผลิตยางแผ่นรมควัน และยางแท่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 6.6% และ 6.0% ตามลำดับ

ดังนั้น เมื่อได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพาราแล้ว ผู้ประกอบการสามารถนำมาชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการผลิตของตนเองได้ เพื่อเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ก่อนที่จะนำคาร์บอนเครดิตส่วนที่เหลือไปเหลือไปขายให้กับองค์กรอื่นที่ต้องการ

ภายในปี 2568 คาดว่าจะมีสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER อย่างน้อย 8.7 หมื่นไร่ ซึ่งมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 366,626 tCO2eq/ปี 7 จากปี 2566 ที่มีสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนโครงการ 
T-VER อยู่ที่ 3.7 หมื่นไร่

โดยอ้างอิงจากมาตรการสนับสนุนของ กยท. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่จะนำสวนยางของเกษตรกร 5 หมื่นไร่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VERกับ อบก. และคาดว่า กยท. จะขยายผลไปยังพื้นที่สวนยางพารา 10 ล้านไร่ ภายในปี 2573 เป็นไปตามแผนของนโยบายส่งเสริมการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา ซึ่งจะมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยได้สูงถึง 42 MtCO2eq/ปี

หากได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก. ปริมาณคาร์บอนเครดิตของสวนยางพารานับว่าเป็นส่วนที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจที่จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ ไปสู่ธุรกิจยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทั้งนี้ การศึกษาของ อบก. คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 182.23 - 197.23MtCO2eq/ปี ขณะที่ในช่วงปี 2562-2566 มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจาก อบก. เฉลี่ยอยู่ที่ 3 MtCO2eq/ปี

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมยางพารา ดังต่อไปนี้

• ผู้ประกอบการที่มีพื้นที่สวนยางพาราควรเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และมุ่งสู่การขอรับรองคาร์บอนเครดิตในระยะข้างหน้า หากต้องการรับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ทั้งในแง่ของการสร้างรายได้ และการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การวางแผนพัฒนาพื้นที่โครงการให้เป็นไปตาม เงื่อนไขของ อบก. และการรวบรวมข้อมูลการใช้ปุ๋ย และสารปรับสภาพดินไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นต้น 

ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประกอบธุรกิจยางแปรรูปกลางน้ำ และปลายน้ำที่มีสวนยางพารา ถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพื้นที่ และเงินทุน ดังนั้น เพื่อที่สร้างโอกาส และความได้เปรียบผู้ประกอบการจึงควรริเริ่มพัฒนาโครงการ

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประโยชน์ทางด้านรายได้ ยังควรพิจารณาที่จะนำคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพารามาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมภาพรวมขององค์กร เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้

เช่น เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยควรเริ่มต้นจากการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรของตนเอง เพื่อวางแผน และประเมินการใช้คาร์บอนเครดิตในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสม 

สำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ที่มีพื้นที่สวนยางพาราไม่มาก เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยในการพัฒนาโครงการลดลง และได้รับกำไรที่เพิ่มขึ้น ควรที่จะมีการรวมกลุ่มในการพัฒนาโครงการ และขอรับรองคาร์บอนเครดิต เช่น อาจมีการรวบรวมพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการ T-VER ในสวนยางพาราในนามของสมาคมผู้ประกอบการยางพาราในภายในพื้นใกล้เคียงกันหรือวิสาหกิจชุมชน รวมถึงอาจมีการติดต่อกับ กยท. ในระดับพื้นที่ เพื่อรับความช่วยเหลือทางด้านข้อมูล และองค์ความรู้ต่างๆ

• ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา ตลอดจนสนับสนุนให้มีการพัฒนาโครงการไปสู่มาตรฐานระดับสากล โดยควรเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงโอกาสทางธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการ T-VER และได้รับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านองค์ความรู้ ด้านเงินทุน 

รวมทั้งควรมีแนวทางในการสนับสนุนในระยะยาวอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และสามารถยกระดับมาตรฐานโครงการไปสู่ระดับสากลได้ เช่น การจัดสรรงบประมาณประจำสำหรับโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา สนับสนุนการรวมกลุ่มสวนยางพาราในพื้นที่เพาะปลูกยางพาราหนาแน่น เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย ตลอดจนร่วมมือกับสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการยางพาราที่สนใจ เป็นต้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...