เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาขานรับงดทำนาปรัง2 รับมือแล้ง ร้อนแรง

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง พบปะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท และอ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปรับตัวและลดผลกระทบจากปัญหาน้ำน้อย 

ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนใช้การได้ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 66 จำนวน 2,546 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน วันที่ 2 มีนาคม 67) รวมทั้งแนวโน้มสถานการณ์เดือนมีนาคม ต่อเนื่องเมษายน 67 พบว่าจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ และอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ 1-2 องศา (ข้อมูล กรมอุตุนิยมวิทยา)

สรุปได้ว่าจะร้อนและแล้งในช่วงเวลาดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวนาปรัง รอบที่ 2 ซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังกล่าว พบว่า เกษตรกรรับทราบถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ รวมทั้งมีความตระหนักและเข้าใจถึงผลกระทบและความเสียหายต่อผลผลิตรวมทั้งการลงทุนที่จะเกิดขึ้น สอดคล้องกับการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เพิ่งเกี่ยวขายข้าวเสร็จเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะงดการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เพื่อรอการส่งน้ำในห้วงวันที่ 1 พฤษภาคม 67

สำหรับปลูกข้าวนาปี ซึ่งจากกรณีดังกล่าวแสดงถึงว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบริเวณลุ่มเจ้าพระยา ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและประเมินความเสี่ยงในอนาคตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตระหนักถึงประโยชน์สาธารณะที่จะต้องเตรียมน้ำต้นทุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขอบคุณเกษตรกรชาวนา ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ที่ให้ความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมการเพาะปลูกข้าวไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ทำความเข้าใจให้เกษตรกรทราบถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งแจ้งขอความร่วมมือให้งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 และยังคงเน้นย้ำ ฝากเตือนถึงเกษตรกรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ผลผลิตอาจเสียหาย ไม่คุ้มทุน อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค รวมถึงการรักษาระบบนิเวศตลอดช่วงฤดูฝน

สำหรับพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกพืชอื่นได้ ขอความร่วมมือให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน อาทิ มะเขือเทศ (กำไรเฉลี่ย 36,800 บาทต่อไร่) ฟักทอง (กำไรเฉลี่ย 34,890 บาทต่อไร่) แตงโม (กำไรเฉลี่ย 16,885 บาทต่อไร่) ข้าวโพดหวาน (กำไรเฉลี่ย 7,720 บาทต่อไร่) และถั่วลิสง (กำไรเฉลี่ย 2,644 บาทต่อไร่) หรือพืชใช้น้ำน้อยอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะใช้น้ำน้อยกว่าแล้ว เกษตรกรยังสามารถสร้างกำไรเฉลี่ยได้มากกว่าการทำนาปรัง (กำไรเฉลี่ย 1,572 บาทต่อไร่) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำปรึกษาและคำแนะนำในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง รอบที่ 2 เพื่อวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...