โบรกเกอร์ทรุดต่อวอลุ่มเหลือ 4 หมื่น หลังกำไรปี 66 วูบทุกรายกว่า 15%

     ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวลดลง 15% และมูลค่าการซื้อขายหรือวอลุ่มเฉลี่ยรายวัน 51,082 ล้านบาท นั้นมี ผลกับธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์โดยตรง ที่มีจำนวนมากถึง 37  ราย  จากรายได้หลักที่อิงกับธุรกิจตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ทำให้ผลประกอบการปี 2566 หลายโบรกเกอร์รายงานออกมากำไรทรุดลงถ้วนหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ที่มีวอลุ่มรายวันเฉลี่ย  71,226 ล้านบาท

      จากการรายงานผลประกอบการปี 2566 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 5 ราย จากทั้งหมด  9 ราย  ประกอบไปด้วย บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ASP  มีกำไรที่  407 ล้านบาท ลดลง 15.03% จากปีก่อนมีกำไร 479 ล้านบาท  โดยเป็นการปรับตัวลดลงของรายได้โบรกเกอร์หลักทรัพย์ 35.72%  ที่ 538 ล้านบาท จากปีก่อน 837 ล้านบาท รวมไปถึงรายได้โบรกเกอร์ตลาดอนุพันธ์ และค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวลดลงเช่นกัน

บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ  GBX  มีกำไรที่ 48.48 ล้านบาท ลดลง 31.23% จากปีก่อนมีกำไร 70.50 ล้านบาท จากรายได้โบรกเกอร์ลดลง 41.45%  อยู่ที่ 171 ล้านบาทจากปีก่อน จนทำให้ปริมาณการซื้อขายของ GBX ลดลงอยู่ที่ 1,202.08 ล้านบาทต่อวัน จาก 1,849.43  ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดลดลง อยู่ที่ 1.22% จากปีก่อนที่ 1.31%  

      บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) หรือ KGI มีกำไรที่  868 ล้านบาท ลดลง 13.54% จากปีก่อนมีกำไร 1,004 ล้านบาท  มาจากรายได้โบรกเกอร์ลดลง 21% อยู่ที่ 884 ล้านบาทจาก 1,115 ล้านบาทปีก่อน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวลดลงมากสุดโบรกเกอร์หลักทรัพย์ลดลง 29%  อยู่ที่ 557 ล้านบาทจาก 780 ล้านบาทปีก่อน

       บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH มีกำไรที่  90.86 ล้านบาท ลดลง 58.12%  จากปีก่อนมีกำไร 217 ล้านบาท รายได้รวมลดลงจากรายได้โบรกเกอร์ลดลง 34.22 % อยู่ที่ 654 ล้านบาท จาก 995 ล้านบาทปีก่อน  

 

และบริษัท  เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG  มีกำไรที่  106  ล้านบาท เพิ่มขึ้น  161% จากปีก่อนขาดทุน  171  ล้านบาท  แม้จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด ลดลง 32.59 ล้านบาท

      บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง มีกำไรสุทธิลดลง 65.55 ล้านบาท  เกิดจากรายได้โบรกเกอร์ หลักทรัพย์ลดลง  328.59 ล้านบาท หรือลดลง 34.91%  จากวอลุ่มเฉลี่ยรายวันลดลง  30.07% ในขณะที่รายได้อื่นลดลง 23.63 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 286.67 ล้านบาท

      หากแต่บริษัทมีรายได้จากธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด และบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 87.17 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 466 ล้านบาท รายได้รวมอยู่ที่  621.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 578%  จากปีก่อนอยู่ที่ 91.57 ล้านบาท

      อย่างไรก็ตามจากงบ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP มีบริษัทย่อย  บล.เกียรตินาคินภัทร  ระบุรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ  5,476 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน เป็นผลมาจากธุรกิจโบรกเกอร์ปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีส่วนแบ่งฯ อันดับที่ 1 อยู่ที่ 20.8% รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจยังอยู่ในระดับที่ดีแม้ประสบกับภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย

      นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า ผลดำเนินงานของธุรกิจโบรกเกอร์ในไตรมาส 1 ปี 2567 อาจจะยังไม่สดใสมากนัก ธุรกิจโบรกเกอร์ทำได้เพียงประคองธุรกิจไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของวอลุ่มซื้อขายตลาดหุ้นไทยยังอยู่แค่ระดับ 40,000 ล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะซบเซา แต่วอลุ่มซื้อขายถือว่าดีขึ้นเล็กน้อยเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยต่ำกว่า 1,400 จุด 

     “ธุรกิจโบรกเกอร์จะเอาอะไรมาดี โดยเฉพาะในโบรกเกอร์ ขนาดเล็ก ดูจากวอลุ่มซื้อขายแค่ 40,000 ล้านบาท รวมถึงบรรยากาศลงทุนก็ไม่ดีทั้งภาพของตลาดใหญ่ และตลาดหุ้นไอพีโอก็ยังไม่กลับมาคึกคัก สภาพคล่องก็ไม่ดี ไม่ดึงดูดนักลงทุน ดังนั้น นักลงทุนก็ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุน” 

     ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังคือ การเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไรก็ตาม ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะตอนนี้จะรอการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  คงไม่ได้ เพราะเฟดคงไม่ได้จะลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ 

     ซึ่งนักลงทุนจะเห็นภาพการฟื้นต้วของเศรษฐกิจคงต้องพึงนโยบายของรัฐบาล และหากเห็นภาพเศรษฐกิจดีขึ้นนักลงทุนก็จะกล้าลงทุนมากขึ้น บริษัทก็จะมั่นใจในการนำบริษัทเข้ามาระดมทุน (ไอพีโอ) ซึ่งเมื่อนั้นสภาพคล่องในตลาดหุ้นก็จะเพิ่มขึ้น หนุนมูลค่าการซื้อขายให้กลับมาคึกคัก ซึ่งธุรกิจโบรกเกอร์ก็จะกลับมาสดใสได้

     นายกรภัทร  วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน  กล่าวว่า  ระดับการซื้อขายเฉลี่ย 50,000 ล้านบาทต่อวัน ต่ำกว่าเฉลี่ยช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจโบรกเกอร์ที่แข่งขันกันรุนแรงอยู่แล้วได้รับผลกระทบหากกำไรไม่ลดลงจะเผชิญขาดทุนได้

      ต้นปี 2567 วอลุ่มยังไม่ได้ดีขึ้นแต่คาดว่าหากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน บวกกับมาตรการที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ คุม short selling  และ  Program Trading   ที่เกิดปัญหาในช่วงที่ผ่านมา จนกระทบวอลุ่มตลาดหุ้น ซึ่งทำได้ตรงจุด น่าจะทำให้วอลุ่มตลาดหุ้นไทยสามารถกลับมาได้

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...