เตือนประชานิยม 'ไทย-อินโดฯ' อันตราย ท้าทายหั่นอันดับเครดิตเรตติ้ง

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวเศรษฐกิจชื่อดังอย่าง “Bloomberg” มองว่า “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของไทยกับ “อาหารกลางวันฟรี” ของอินโดนีเซีย ส่อเพิ่มความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือด้านการลงทุน

ในอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศเตรียมแจกอาหาร และนมฟรีให้เด็กในโรงเรียนมากกว่า 80 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และลดช่องว่างการพัฒนา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นที่คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 120 ล้านล้านรูเปียห์ ในช่วงปีแรก ก่อนที่งบประมาณนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านล้านรูเปียห์ ภายในปี 2572 

ด้วยงบประมาณที่ขยายเช่นนี้ จึงมีแนวโน้มจะทำให้เกิด “ภาวะขาดดุลงบประมาณ” สูงขึ้นเป็น 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2568 จากระดับ 2.29% ที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้

ขณะในไทย นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับคนไทยเกือบทุกคนของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้น GDP ของไทยให้โตมากกว่า 2% และต้องใช้เงินราว 5.6 แสนล้านบาทด้วย “เงินกู้” เป็นส่วนใหญ่

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินจึงเตือนว่า นโยบายเงินดิจิทัลนี้อาจกระตุ้นเงินเฟ้อ และกระทบต่อวินัยทางการคลัง รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน บรรดานักเศรษฐศาสตร์ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างออกมาส่งเสียงคัดค้าน และเสนอให้กลับมาแจกเฉพาะกลุ่มดีกว่า เพราะประหยัดงบประมาณ และกระตุ้นได้ตรงจุดมากขึ้น

จาก 2 ตัวอย่างโครงการประชานิยมของ “ไทย” กับ “อินโดนีเซีย” เหล่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังก็ออกโรงเตือน โดย Fitch Ratings ชี้ว่า อินโดนีเซียอาจเผชิญ “ความเสี่ยงทางการคลัง” ในระยะกลางสูงขึ้น ส่วน Moody และ S&P Global เคยออกโรงเตือนว่าไทยมีสิทธิถูกหั่นอันดับเครดิตในอนาคต  จากภาระหนี้ก้อนใหญ่ และเศรษฐกิจชะลอตัวลง

ยูเบน พาราคิวเลส (Euben Paracuelles) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนจากโนมูระ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องท้าทายที่รัฐบาลทั้งสองจะยอมถอยจากนโยบายแนวประชานิยม เพราะเป็นตัวชูโรง และสร้างกระแสเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจสร้างการเติบโตในระยะชั่วคราว อันที่จริงแล้ว เงินควรถูกใช้ในสิ่งที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าอย่างโครงสร้างพื้นฐาน

อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ กองทุนทั่วโลกได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลไทย และอินโดนีเซียรวมกว่า 928 ล้านดอลลาร์หรือราว 33,000 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้วถึงราว 6% นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว จนกลายเป็นสกุลเงินที่ทำผลงาน “แย่ที่สุด” ในบรรดาสกุลเงินประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

ส่วนอินโดนีเซีย ข้อมูลจากดัชนี Bloomberg Asia Dollar ระบุว่า สกุลเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ 0.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งในวันที่ 14 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา จนกลายเป็นสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าสกุลเงินโดยรวม

นักเศรษฐศาสตร์กังวลไทยมากกว่าอินโดฯ

เลียม สปิลเลน (Liam Spillane) หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของบริษัทจัดการลงทุน Aviva Investors ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า “นโยบายประชานิยมดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง และสิ่งที่ทำให้เรากังวลมากกว่าคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง” โดยสปิลเลนมีมุมมองเชิงลบกับตลาดตราสารหนี้ไทย แต่ค่อนข้างมีมุมมองเป็นบวกกับตลาดตราสารหนี้อินโดนีเซีย ทว่าอาจต้องรอดูรายละเอียดหลังผลการเลือกตั้งอีกครั้ง

ถ้าดูกลุ่มผู้นำในภูมิภาคอาเซียน จะเห็นว่า พวกเขาปรับนโยบายไปทางเอาใจกลุ่มชนชั้นล่าง และกลางมากขึ้น ผ่านการแจกเงิน หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ประสบความลำบากในช่วงโควิด-19 เงินเก็บหดหาย และเงินเฟ้อสูง จนปัญหาเหล่านี้ขึ้นเป็นประเด็นสำคัญในนโยบายหาเสียง ไม่เว้นในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์

ทามารา มาสท์ เฮนเดอร์สัน (Tamara Mast Henderson) นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Bloomberg ให้ความเห็นว่า “การแจกเงินดิจิทัลของไทยเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด เพราะเงินที่แจกมาจากการกู้ และช่วยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น ไม่ได้ให้ผลผลิตในระยะยาวหรือให้ประโยชน์ทางโครงสร้างต่อเศรษฐกิจ”

เฮนเดอร์สัน กล่าวต่อว่า “สำหรับประธานาธิบดี ปราโบโว นโยบายแจกอาหารฟรีอาจต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้งถึงจะประเมินได้ แต่ในตอนนี้ยังคงน่ากังวลน้อยกว่าไทย” โดยเธอมองอินโดนีเซียว่า มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า และมีภาระหนี้ต่ำกว่าไทย

มาเลเซียหยุดอุดหนุนพลังงานยาก แม้งบทะลุกรอบ

นอกเหนือจากไทยและอินโดนีเซีย มาเลเซีย” เพื่อนบ้านทางใต้ก็ประสบความท้าทายในการถอนคันเร่งนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานเช่นกัน ซึ่งใช้งบประมาณทะลุที่ประเมินไว้ที่ 81,000 ล้านริงกิต เมื่อปีที่แล้ว

ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่ม แต่การใช้มาตรการภาษีสินค้า และบริการอาจเกิดขึ้นยาก เพราะเมื่อปี 2561 มาตรการขึ้นภาษีดังกล่าวเผชิญแรงต้านจากประชาชนจนภาครัฐต้องถอย

จีง เหงียน (Trinh Nguyen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบริษัทด้านการเงิน Natixis ให้ข้อคิดว่า “คุณไม่สามารถอุดหนุนตามความต้องการประชาชนได้ตลอดไป”

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...