สทท. กังวล ‘เงินฝืด’ กระทบท่องเที่ยว คนไทยรัดเข็มขัดหนักกว่าก่อนโควิด!

Key Points:

  • รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 4/2566 ระบุถึง "ปัจจัยเสี่ยง" เข้าสู่ภาวะเงินฝืดของเศรษฐกิจไทย ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 1/2567
  • ความคิดเห็นของประชาชนคนไทย เกี่ยวกับหัวข้อ "การวางแผนท่องเที่ยวของประชาชนในไตรมาส 1/2567" พบว่ากว่า 73% "ระมัดระวังการใช้จ่าย" มากขึ้น เมื่อเทียบกับยุคก่อนวิกฤติโควิด-19
  • กว่า 87% ลดค่าใช้จ่ายในหมวดของใช้ส่วนตัวมากขึ้น ส่วน 79% ควบคุมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและการบันเทิง

 

รายงานข่าวจาก สทท. ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของสถานการณ์ “เศรษฐกิจโลก” ตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) ของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี (ไม่นับรวมกรณีเศรษฐกิจโลกหดตัวในปี 2563-2565 จากวิกฤติโควิด-19) โดยมีการขยายตัว 2.4% ลดลงจาก 2.6% ในปี 2566

ธนาคารโลกคาดด้วยว่าเศรษฐกิจของ “สหรัฐ” จะขยายตัวเพียง 1.6% ในปี 2567 ลดลงจากระดับ 2.5% ในปี 2566 ส่วน “ยูโรโซน” จะขยายตัว 0.7% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากระดับ 0.4% ในปี 2566 ขณะที่ “จีน” น่าจะชะลอตัวสู่ระดับ 4.5% ในปี 2567 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี

นอกจากนี้บริษัท Moody’s Investor Service (Moody’s) วิเคราะห์ว่าประเทศนอร์เวย์และสวีเดน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล (Long-haul) ที่มักมาเที่ยวประเทศไทยระยะเวลานาน กำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่มยุโรป อเมริกา รวมทั้งจีน รัสเซีย และออสเตรเลีย อยู่ในภาวะเสี่ยงจะเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” เช่นเดียวกัน

เมื่อดูเฉพาะ “เศรษฐกิจจีน” พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนในไตรมาส 3 ลดลง 0.1% จากการขยายตัว 0.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 56 ไตรมาส และมีแนวโน้มติดลบในไตรมาสถัดไป อัตราเงินเฟ้อติดลบแสดงถึงประชาชนขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่คาดจากปัญหาหนี้สินเอกชนและหนี้รัฐบาลจีน มีสัดส่วนในระดับสูง 300% ของจีดีพี

ความเสี่ยง 'เศรษฐกิจไทย' ส่งสัญญาณเงินฝืด

ด้าน “เศรษฐกิจไทย” เองก็ส่งสัญญาณเงินฝืดเช่นกัน! เพราะจากอัตราเงินเฟ้อของไทยขยายตัวต่ำติดต่อกัน 8 เดือน เริ่มจากเดือน พ.ค. 2566 มีอัตราเงินเฟ้อ 0.53% ส่วนเดือน มิ.ย. 0.23% เดือน ก.ค. 0.35% เดือน ส.ค. 0.88% เดือน ก.ย. 0.30% กระทั่งเข้าสู่เดือน ต.ค. อัตราเงินเฟ้อติดลบ 0.31% เดือน พ.ย. ติดลบ 0.44% และเดือน ธ.ค. ติดลบ 0.83% ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 อัตราเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกันในรอบ 26 เดือน และมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อไทยจะติดลบต่อเนื่อง

เมื่อ “อัตราเงินเฟ้อไทยติดลบ” สะท้อนถึงคนไทยกำลังขาดกำลังซื้อ หากติดลบติดต่อกันหลายเดือน จะสะท้อนภาวะเงินฝืดภายในประเทศ!

ขณะเดียวกัน “ภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน” ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยไตรมาส 1/2567 เช่นกัน หลังจากเมื่อสิ้นปี 2566 หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปประมาณ 16.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 91.4% ต่อจีดีพี ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยมากที่สุด ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกหนี้ภาคเกษตรกรรมถือเป็นข้อจำกัดที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม

 

เปิดผลสำรวจ 'คนไทยวางแผนท่องเที่ยว ไตรมาส 1/2567'

รายงาน สทท. ระบุด้วยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนไทยที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เกี่ยวกับ “การวางแผนท่องเที่ยวของประชาชนในไตรมาส 1/2567” ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ จำนวน 418 คนทั่วประเทศ กระจายตามเพศ ภูมิภาค อาชีพ และช่วงรายได้ ผลการสำรวจพบว่า ประชาชน 74% มีแผนการเดินทางไปต่างจังหวัดในไตรมาส 1 และคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวและจำนวนครั้งในการเดินทางเพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาส 4/2566

สำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัดต่อครั้งช่วงไตรมาส 4/2566 เป็นเงินประมาณ 4,293 บาท/คน/ทริป ถือว่าไม่แตกต่างจากไตรมาส 3/2566 ซึ่งอยู่ที่ 4,285 บาท/คน/ทริป แต่แตกต่างจากช่วงต้นปี ไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท/คน/ทริป สะท้อนสัญญาณคนไทยขาดกำลังซื้อและเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว

ลักษณะการเดินทางในไตรมาส 1/2567 ส่วนใหญ่ 55% เป็นการเดินทางข้ามภูมิภาค ด้าน 33% มีแผนเดินทางไปจังหวัดในภูมิภาคเดียวกันและพักค้างคืน ภูมิภาคที่ประชาชนวางแผนไปท่องเที่ยวมากที่สุดคือ “ภาคตะวันออก” คิดเป็น 60% ของคนที่วางแผนท่องเที่ยว รองลงมาคือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ 30% และ 28% ตามลำดับ

กว่า 68% ของคนที่วางแผนท่องเที่ยว มีแผนเดินทางในเดือน ม.ค. กว่าครึ่งเดินทางกับครอบครัวและญาติ และส่วนใหญ่ 66% เดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะที่ 23% มีแผนเดินทาง “ท่องเที่ยวต่างประเทศ” โดยเฉพาะญี่ปุ่น เวียดนาม และเกาหลีใต้ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยมากที่สุดตามลำดับ

 

กว่า 73% รัดเข็มขัด ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นกว่ายุคก่อนโควิด

ด้านผลการสำรวจเกี่ยวกับ “พฤติกรรมการใช้จ่ายและสถานะทางการเงินที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศของประชาชน” พบว่า 55% มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน มีเพียง 19% ที่รายได้ไม่เพียงพอ

ด้านประชาชน 73% “ระมัดระวังการใช้จ่าย” มากขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติโควิด-19 โดย 87% มีการลดค่าใช้จ่ายในหมวดของใช้ส่วนตัวมากขึ้น ส่วน 79% ควบคุมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและการบันเทิง และ 56% ควบคุมค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

เมื่อเจาะเฉพาะประเด็น “การควบคุมค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว” พบว่ากว่า 89% มีการลดค่าชอปปิงและซื้อของฝากในการท่องเที่ยว รองลงมา 58% ลดค่าใช้จ่ายด้านที่พัก และ 50% ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง


 

'ค่าใช้จ่ายไม่แพง' ปัจจัยหลักรั้งคนไทยตัดสินใจท่องเที่ยวในประเทศ

สอดรับกับการสำรวจหัวข้อ “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวของชาวไทย” พบว่า ประชาชน 28% ระบุว่าปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือ “ค่าใช้จ่ายไม่แพง” รองลงมา 27% ยกให้เรื่องความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว ส่วน 18% เป็นเรื่องการลดราคา จัดโปรโมชันต่างๆ ของสถานประกอบการ และ 18% ตอบว่าเป็นเพราะความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความพึงพอใจต่อ “ถนนหนทาง” ที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประเทศไทยในระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 3.39 จากเต็ม 5 คะแนน และพึงพอใจต่อการเดินทางโดย “รถไฟ” ในระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 2.85 จากเต็ม 5 คะแนน

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความสนใจเดินทางท่องเที่ยว “เมืองรอง” ในระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 3.46 จากเต็ม 5 คะแนน โดยเหตุผลที่ประชาชนอยากเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรอง ได้แก่ นักท่องเที่ยวน้อย ไม่แออัด ค่าใช้จ่ายถูกกว่าเมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยวมีความสมบูรณ์และอากาศดีกว่าเมืองหลัก ส่วนเหตุผลที่ประชาชนไม่อยากเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรอง ได้แก่ เส้นทางเดินทางไม่สะดวกเท่าเมืองหลัก ข้อมูลการท่องเที่ยวมีน้อย และแหล่งท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก กับที่พัก ยังมีน้อย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...