'พลังงาน-อุตสาหกรรม' เร่งแผน-รื้อกม. ลดฝุ่น PM2.5 

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าร่างแผนพลังงานชาติ ฉบับใหม่ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผน PDP โดยเฉพาะสัดส่วนก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และการประหยัดพลังงานจะต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกันทั้ง 5 แผนย่อยผนวกไว้ด้วยกัน โดยคาดว่าแผน PDP จะสามารถประชาพิจารณ์ปลายเดือนก.พ. หรือต้นเดือนมี.ค. นี้ ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นถึง 70% และปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซออกไป 

"ในแผนPDP จะมีเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในตัวเลือกรวม 7-8 สมมติฐาน อาทิ ราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ราคาก๊าซนำเข้าที่ลดลง รวมถึงปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น ซึ่งจะนำมาประชาพิจารณ์สาธารณะเพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนที่ยังมีเป็นประเด็นตัวอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นที่เคยมีปัญหา จึงต้องสื่อสาร แต่ก็ต้องปรึกษานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก่อนว่าจะเลือกไปประชาพิจารณ์หรือไม่" นายประเสริฐ กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า แผนพลังงานชาติ ถือเป็นอีกนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)ถือเป็นอีกเป้าหมายในการลดฝุ่น PM2.5 ด้วย อย่างไรก็ตาม จากปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่มาจากปัจจัยหลายส่วนหากเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ หลัก ๆ มาจากภาคขนส่งโดยเฉพาะการใช้รถยนต์บนท้องถนนที่มีการปล่อยมลพิษออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาการเผาทิ้งสิ่งของที่ชาวไร่ชาวนาไม่ต้องการและกลายเป็นปัญหาควันพวยพุ่งอยู่ในอากาศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายของแผนพลังงานชาติที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ภารกิจตามแนวทาง 4D1E คือ 

  • Decarbonization : การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน 
  • Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน 
  • Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน 
  • Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่
  • Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

ทั้งนี้ แผนพลังงานชาติ ได้รวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย 

  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 
  • แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 
  • แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)
  • แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 
  • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) 

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขที่ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละประมาณ 360 ล้านตัน ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นของโลก โดยภาคที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญคือ ภาคพลังงาน ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันปีละราว 260 ล้านตัน

ดังนั้น รัฐบาลได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างสมดุลที่มาจากพลังงาน ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องปรับเป้าหมายการทำแผนใหม่ ดังนั้น สนพ. จะต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนสำคัญ ประกอบด้วย

1. ด้านไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่น้อยกว่า 50% ให้สอดคล้องแนวโน้มต้นทุน RE ที่ต่ำลง โดยพิจารณาต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วย และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวสูงขึ้น รวมถึงนโยบาย BCG economic ที่ประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ  อาทิ แสงแดด ลม และ Hydrofloating solar จะลดการเผาไหม้เชื่อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของ PM2.5 ด้วย

2. ด้านก๊าซธรรมชาติ จะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบพลังงานประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Regional LNG Hub

3. ด้านน้ำมัน ต้องปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นตามแผน 30@30 จะเป็นการลดการปล่อยปล่อย PM2.5 และ ก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งโดยตรง อย่างมีผลกระทบสูงมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยน EV ใน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการลงทุน EV ที่เติบโตอย่างมาก ในประเทศไทย ถือเป็นส่วนสำคัญในการลดค่า PM2.5 ได้มากที่สุด 

4. ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนทุกภาคมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ในหลายมิติ ประกอบด้วย การใช้ Application ผ่าน Sensor for all ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยร่วมกับ คณะวิศว จุฬาฯ รายงาน ทำนาย และเชื่อมโยงวิเคราะห์ข้อมูล PM2.5 พร้อมให้ประชาชน download ใน app store รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าด้วย เพื่อสามารถติดตามข้อมูลประสิทธิภาพของระบบบำบัดมลพิษอากาศ รวมถึง PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที

รวมถึง การรณรงค์ลด และหรือการบริโภคพลังงานอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการทราบแล้วเปลี่ยน ในทุกภาคส่วนนั้น (ครัวเรือน 25% และ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม 75% ของการใช้ไฟฟ้า) นับเป็นการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลต่อการเกิดฝุ่น PM2.5 อันเนื่องมาจากการผลิตพลังงาน 

ผู้สื่อข่างรายงานว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มในการลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น มีดัชนีชี้วัดตรวจสอบชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เบื้องต้นจะมีทั้งมาตรการส่งเสริมด้านการเงิน ดอกเบี้ยพิเศษ องค์ความรู้ มาตรฐาน รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดขึ้น ขณะนี้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเดินหน้าหลายมาตรการแล้ว 

อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้แก้ปัญหาการเผาอ้อยผ่านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ให้ตัดอ้อยสด ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ให้ชาวไร่อ้อย 1.4 แสนราย เริ่มจ่ายเดือนม.ค. 2567 และอยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรการออกระเบียบรับซื้ออ้อยไฟไหม้ให้เข้มงวดมากขึ้น

ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรฐานลดฝุ่นพีเอ็ม2.5 โดยเตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 วันที่ 1 มกราคม 2567 เช่นกัน เพื่อลดฝุ่นพิษจากรถยนต์ รวมทั้งออกมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศ มอก.60335 เล่ม 2 (65)-2564 3. และมาตรฐานหน้ากากอนามัย

พร้อมทั้งสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้คุมเข้มโรงงานหากปล่อยควันเกินมาตรฐานจะสั่งหยุดเพื่อแก้ไขทันที และส่งดำเนินการทางกฎหมายด้วย อาทิ โรงงานใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน โรงงานใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก รวมทั้งได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการกรอ. นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอากาศจุดที่โรงงานหนาแน่น อาทิ นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามโรงงานอุตสาหกรรมได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (เซมส์) ซึ่งข้อมูลจะแสดงผลผ่านเว็บไซต์ของ กรอ. และแอพพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้

รวมถึงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะเข้มงวดเหมืองเพื่อลดฝุ่นพิษเช่นกัน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...