สรรพากร จับมือ บก.ปอศ. ทลายบริษัทขายใบกำกับภาษีปลอมมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 14 ก.พ.2567 กรมสรรพากร ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้เข้าตรวจค้นสถานที่ออกใบกำกับภาษีปลอม จำนวน 5 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น ได้ยึดเอกสารใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย และได้จับกุมผู้กระทำความผิดได้ ณ สถานที่ตรวจค้นในความผิดฐาน “ร่วมกันมีเจตนาออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออก” อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร

สำหรับพฤติการณ์สืบเนื่องมาจากการสืบสวนสอบสวนของกรมสรรพากรพบว่า มีการนำใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นมาทำการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ใช่ผู้ขายสินค้าตัวจริง กรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริง กระทั่งพบสถานที่ที่ใช้ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว และในส่วนของ บก. ปอศ. ได้ดำเนินการล่อซื้อใบกำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง ซึ่งจากการตรวจค้นทั้ง 5 แห่ง พบใบกำกับภาษีจำนวนมากมีมูลค่าความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีและผู้ใช้ใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้มีการประกอบกิจการจริง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 86/13 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยโทษทางแพ่ง ต้องรับผิดเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมายอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี และโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายกันจริง ในส่วนของผู้ออกต้องรับผิดทางแพ่งแล้ว ยังมีโทษทางอาญาด้วยในฐานความผิด โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี   ไม่มีสิทธิที่จะออก ส่วนผู้ที่นำใบกำกับภาษีไปใช้ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่มีสิทธินำมาใช้เป็นเครดิตต้องรับผิดทางแพ่ง และมีโทษทางอาญาในฐานความผิดใช้ใบกำกับภาษีปลอมโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี มีโทษต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท

“เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ใช้ใบกำกับภาษีต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบกิจการซึ่งมีตัวตนจริง และเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเท่านั้น กรมสรรพากรขอแนะนำให้ผู้ประกอบกิจการเข้าสู่ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกปลอมแปลงใบกำกับภาษี ลดความซ้ำซ้อนและลดปัญหาการจัดการเอกสารที่อยู่ในรูปของกระดาษ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ตามมาตรฐานสากลต่อไป”อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวและว่า เบื้องต้น ยังไม่พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมกับการกระทำดังกล่าว

 

น.ส.กุลยากล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นแบบภาษีนิติบุคคล 7-8 แสนราย และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 8 แสนราย ส่วนผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11.40  ล้านราย  ซึ่งกรมสรรพากร จะพยายามให้ใช้ระบบE-Tax มากยิ่งขั้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องยื่นภาษีนิติบุคคล และภาษี VAT ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบ E-Tax เพียง 30% ของจำนวนทั้งหมด ขณะที่ ผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นเสียภาษีรายปีผ่านE-Tax แล้ว 95% เพื่อป้องกันการโกงและคืนภาษีปลอม ซึ่งกรมฯเองก็จะเร่งพัฒนาระบบที่จะทำให้ผู้เสียภาษีมีต้นทุนในการเข้าสู่ระบบ E-Taxต่ำที่สุด เพื่อดึงให้ผู้เสียภาษีเข้าระบบ E-Tax มากขึ้น

สำหรับเรื่องการคืนภาษีให้กับผู้เสียภาษีนั้น ส่วนใหญ่จะคืนผ่านพร้อมเพย์แล้ว ส่วนกรณีเป็นชาวต่างชาติ ที่ทำงานในประเทศไทยกว่า 8 หมื่นรายนั้น กรมสรรพากร อยู่ระหว่างหารือกับสถานบันการเงิน เพื่อหาช่องทางคืนภาษีให้ในรูปแบบที่สะดวกทั้ง 2 ฝ่ายและลดการรั่วไหลได้ด้วย

พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า เนื่องจากว่า บก.ปอศ. ได้รับคำร้องเรียนจากพลเมืองดีว่า มีบุคคลหรือนิติบุคคลกระทำความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิออก โดยออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท โดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการเกิดขึ้นจริง เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.2 บก.ปอศ. จึงได้ทำการสืบสวน โดยให้สายลับเจรจาล่อซื้อใบกำกับภาษี จากกลุ่มบุคคลดังกล่าว จำนวน 5 ครั้ง โดยมีการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิที่จะออกจำนวน 30 ใบ ต่อมาได้ไปตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งจดทะเบียนเป็นสำนักงานนิติบุคคล พบว่า ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว ได้เปิดกิจการเพื่อขายใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน จึงได้รีบดำเนินการโดยเร่งรัด

“ผู้กระทำผิดมีหลายคน แต่เราต้องดำเนินตรวจสอบให้รอบคอบ เบื้องต้น เรามีเอกสารที่ตรวจพบหลายลัง จะดำเนินการขยายผลในทุกฐานความผิด ซึ่งรวมถึง การฟอกเงิน โดยทรัพย์สินที่ได้มาจากการดำเนินการดังกล่าวถือว่า ผิดกฎหมาย”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...